ณ โรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-acting antibody (LAAB) ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยมี นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวรายงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการได้รับวัคซีนโควิด 19 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยมี ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี , ภญ.ชิดชนนี โกศลพัฒนดุรงค์ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี และผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-acting antibody (LAAB) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “หยุดโควิด 19 ทำอย่างไร?”
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-acting antibody หรือ LAAB คือ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวที่ประกอบด้วยแอนติบอดี 2 ชนิด ได้แก่ Tixagevimab และ Cilgavimab เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยสามารถติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ได้ที่สถานพยาบาล เพื่อป้องกันการป่วยหนัก ลดโอกาสเสียชีวิตแก่ประชาชน โดยการทำงานของ LAAB จะเป็นการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้ทันที ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ได้มีการขึ้นทะเบียนใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในการรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตแล้ว
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมติที่ประชุมคณะทำงานวิชาการและบริหารจัดการ LAAB ในประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ได้กำหนดแนวทางการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long-acting antibody หรือ LAAB ในประเทศไทย โดยแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1.กลุ่มเป้าหมายการให้ LAAB สำหรับฉีดป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน , ผู้ป่วยโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาหรือมะเร็งอวัยวะที่กำลังได้รับการรักษา หรือเพิ่งหยุดการรักษาภายใน 6 เดือน , ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ มีซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่จำนวนซีดีสี่ไม่เพิ่มขึ้น หรือมีอาการแสดงของการติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ , ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ทั้ง hemodialysis และ peritoneal dialysis , ผู้ที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง , ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 , ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน (7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน) 2.กลุ่มเป้าหมายการให้ LAAB สำหรับฉีดเพื่อรักษา ได้แก่ ผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยกรณีอื่นๆ จะพิจารณาตามความเสี่ยงและดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด โดยส่วนมากมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและสามารถหายได้เอง