"สุนทรียศาสตร์" ไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาแห่งการชื่นชมความงามทางด้านดนตรี หรือศิลปะ แต่ยังรวมถึงธรรมชาติของพืชพันธุ์ต่างๆ ที่นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับความงามที่สามารถนำมาทำเป็นยาแล้ว ยังได้เพิ่มพูนความรอบรู้ทางสุขภาวะ(Health Literacy) เป็น "ตำราแห่งชีวิต" ที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดี และมีความรู้ซึ่งจะพึ่งพาตัวเองได้ต่อไปในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ผู้ก่อตั้งรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป "สมุนไพรในชีวิตประจำวัน" สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้วยเทคนิคการออกแบบชั้นเรียนแบบมีส่วนร่วม แม้ในบางส่วนจะเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ในช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดล จากหลากหลายคณะ และชั้นปี แต่รายวิชาเปิดให้นักศึกษาทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเสรี และการบ้านที่ให้นักศึกษาได้ลองไปสำรวจสมุนไพรรอบตัวที่บ้าน แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง ทำให้ชั้นเรียนเต็มไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวา
ในชั้นเรียนที่นักศึกษาได้สัมผัส และลงมือปฏิบัติจริง เช่น การใช้สีจากสมุนไพร การทำยาดมสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพรอีกทั้งยังได้ให้นักศึกษาลองรับประทานผักพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการคู่สำรับอาหารไทย เพื่อให้ได้รู้จักและเข้าถึงสมุนไพรน่ารู้ต่างๆ อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร ยังได้ขยายผลสู่ประชาชนทั่วไป โดยได้ก่อตั้งเพจ "Herbal Appreciation" เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์และสมุนไพรที่ไม่มีวันสิ้นสุดโดยที่ผ่านมาทางภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตรมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดโครงการ "Herbal Walk" สำรวจสมุนไพรในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ทำความรู้จักพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพร และการทำตัวอย่างพรรณไม้แห้งอย่างง่าย "Herbarium" ที่สามารถนำไปศึกษา หรือสร้างสรรค์งานศิลปะได้ต่อไปอีกมากมาย
ก้าวต่อไปเตรียมพัฒนาสู่รายวิชาออนไลน์ทาง MUx เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้สมุนไพรสู่ประชาชนทั่วไปอย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมรับประกาศนียบัตรออนไลน์จากมหาวิทยาลัยมหิดลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงเบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร ได้ฝากความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า สมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันและอยู่คู่สังคมไทยมาแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้ามาอาจทำให้การใช้สมุนไพรดูเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้น
ทั้งที่จริงๆ แล้วในชีวิตคนเรา ตั้งแต่ตื่นนอนก็พบเจอสมุนไพรในอาหาร ออกจากบ้านก็เจอต้นไม้พืชสมุนไพรปลูกอยู่ตามทาง สีสันหลายอย่างก็มาจากพืชสมุนไพร เพียงแค่เปิดประตูออกไปสูดอากาศและสัมผัสธรรมชาติที่อยู่ภายนอก จะพบความงดงามที่ทำให้เกิดความสุขทางใจ และพบประโยชน์มากมายจากนานาพืชสมุนไพรที่อยู่รอบตัว
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล