สปสช. เปิด 10 ผลงานเด่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง30 บาท) ปี 2565 สะท้อนการพัฒนา “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่ไม่หยุดนิ่ง จัดสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อเนื่อง ขยายการบริการรุกการบริหารจัดการ เพื่อดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดช่วง 2 ทศวรรษของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” แต่ละปี สปสช.ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้ดำเนินนโยบายและบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 47 ล้านคนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึงพร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และปี 2565 นี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ สปสช.เดินหน้าและพัฒนากองทุนฯ อย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขับเคลื่อนโดย สปสช.เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จนปรากฏเป็น 10 ผลงานเด่น จากการดำเนินงานในปี 2565 ดังนี้
1.ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน สปสช.ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่องปี 2565 เป็นอีกก้าวหนึ่ง วันที่ 6 มกราคม 2565 บอร์ด สปสช.เห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์เลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เปิดให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตกับแพทย์ ปี 2565บัตรทองดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ 62,478 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 18,478 คน ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 1,234 คน และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม40,086 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฟอกตามนโยบายใหม่นี้ 17,000 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไต 146 คน และผู้ป่วยรับยากดภูมิหลังปลูกถ่ายไต 2,534คน
2.ขยายทั่วประเทศ “รักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้-ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว”
“รักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” หนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทองโดยหลักการสำคัญคือ ผู้ป่วยคงรับบริการที่หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่าย แต่กรณีจำเป็นให้เข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ จากผลตอบรับที่ดี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 บอร์ด สปสช.ขยายบริการรักษาปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565ทั้งนี้ปี 2565 มีผู้รับบริการในหน่วยบริการ 1,028 แห่งรวมจำนวน 176,356 คนหรือ 237,162ครั้ง
“ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” ลดความยุ่งยากใช้สิทธิรักษาผู้ป่วยใน ด้วยประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนโดยตรง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บอร์ด สปสช.ได้ขยายนโยบายนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 ซึ่งผู้ป่วยบัตรทองที่เป็นผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัวปี 2565 จำนวน 2.30 ล้านครั้ง
3.ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงติดเตียงผู้มีปัญหากลั้นขับถ่ายบอร์ด สปสช. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียงที่มีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) และผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 3 ชิ้น/คน/วัน หรือแผ่นรองซับการขับถ่ายไม่เกิน3 ชิ้น/คน/วัน โดยดำเนินการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด
4.สิทธิประโยชน์ 9 บริการใหม่ สปสช.เดินหน้าไม่หยุดนิ่ง ปี 2565 เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ 9 รายการ เริ่มในปีงบประมาณ 2565 และ 2566ประกอบด้วย1.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) 2.ขยายข้อบ่งชี้ใช้ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) 3.บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ 4.ตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening)บริการรากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปากตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ และสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร 1600
5.เพิ่ม 10 รายการยาบัญชี จ.(2)ยาจำเป็นแต่มีราคาแพง โดยเพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยโดย 5 รายการแรก เป็นการใช้แทนยาเดิมกรณีดื้อยา/เพิ่มข้อบ่งใช้/ปรับเงื่อนไขสั่งใช้ยา ช่วยประหยัดค่ายาได้ราว59.64 ล้านบาท ได้แก่ 1.ยาโพซาโคนาโซลรักษาการติดเชื้อรามิวโคไมโคสิส ที่ไม่ตอบสนองต่อยา2.ยาไลนิโซลิดรักษาการติดเชื้อเอนเทรโรคอดไคที่ดื้อยาแวนโคไมซิน 3.ยาโซฟอสบูเวียร์+ยาเวลป้าทาสเวียร์และยาไรบาวิริน รักษาตับอักเสบซี 4.ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทตรูปแบบ sterile powder ชนิดออกฤทธิ์นาน ใช้ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ และ 5.ยาเบวาซิซูแมบ รักษาจอตาผิดปกติในเด็กเกิดก่อนกำหนด
ส่วนอีก 5 รายการใหม่ ได้แก่ 1.ยาโวริโคนาโซลรักษา invasive fungal infection จากเชื้อ Trichosporon spp 2.ยาริทูซิแมบรักษากลุ่มโรคนิวโรมัยอิลัยติสออพติกาที่ไม่ตอบสนองการรักษา หรือมีข้อห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลน+เอซาไธโอพรีน 3.ยาเม็ดนิติซิโนนรักษาโรคไทโรซีนีเมียชนิดที่ 1 ให้เฉพาะการรักษาก่อนปลูกถ่ายตับ 4.ยาซิสทีมีน ไบทาร์เทรตสำหรับผู้ป่วย Nephropathic Cystinosis และ 5.ยาซัพโพรเทอริน (Sapropterin) (BH4) รูปแบบ oral form สำหรับวินิจฉัยแยกโรคและรักษาภาวะกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนสูงจากภาวะพร่องเตตราไฮโดรไบโอเทอริน (BH4) และโรคฟีนิลคีโตนูเรีย
6.รุกแผนปฏิบัติราชการฯ สปสช. ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 5สปสช.จัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566-2570 สาระสำคัญคงหลักการตามกรอบแผนการขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมาเพิ่มหลักการ ‘BCG Model’ สนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ในประเทศ เพิ่มเติมยุทธศาสตร์คุ้มครองหลักประกันสุขภาพของประชาชนการบริหารจัดการกองทุนฯ ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายระบบอิเล็กทรอนิกส์ Smart UCS ครบวงจร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน พร้อมสนับสนุนความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของบริการปฐมภูมิ
7.ร่วมจัดระบบบริการดูแล “ผู้ป่วยโควิด-19” ด้วยหลากหลายบริการ ดังนี้
แจกชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK)ให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ รอบแรกเป็นการจัดซื้อและแจกให้กับประชาชน8.5 ล้านชุด โดยรับ ATK ได้ที่ร้านยา ลงทะเบียนและคัดกรองความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด และรอบที่ 2ให้หน่วยบริการเบิกจ่ายชดเชยอัตรา 55 บาท/ชุด ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับชุดตรวจอย่างทั่วถึง
สายด่วน สปสช. 1330 ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือ “เจอ แจก จบ” เมื่อกด 14 0tได้รับบริการคัดกรองอาการ ผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะแนะนำให้รับบริการผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ พร้อมเปิดช่องทางพิเศษ กด 18 ให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่ม 608 กลุ่มเด็ก 0-5 ปี คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว
บริการเจอ แจก จบที่ร้านยา เริ่ม 1 กรกฎาคม 2565ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพิ่มความสะดวกรับบริการให้กับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ทั้งรับยาและติดตามอาการ มีร้านยาเข้าร่วมและให้บริการ 547 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 65,000 คน
บริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน 4 แอปพลิชันสุขภาพดิจิทัลด้วยระบบการแพทย์ทางไกลTelemedicine (Clicknic, MorDee, Good Doctor Technology และ Totale Telemed)เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565ทางเลือกผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่การระบบรักษาพยาบาลที่บ้าน พบแพทย์ผ่าน Video Call ส่งยาให้ผู้ป่วย และติดตามผลการรักษาโดยมีผู้ป่วยโควิด-19 รับบริการกว่า 18,000 ราย
8.ยกระดับสายด่วน สปสช. 1330 จาก Call Center เป็น Contact Centerในช่วงสถานการณ์โควิด-19ระบาด สายด่วน สปสช. 1330เร่งบริการต่อเนื่อง ทั้งบริการข้อมูล ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณสายโทรเข้าเฉลี่ย7,000- 8,000 สาย/วัน นอกจากนี้ยังโทรติดตามประชาชนที่เข้ารับบริการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน (home isolation หรือ community isolation) รวมถึงบริการดูแลผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OPSI)ถึงการได้รับบริการตามที่กำหนดเพื่อเป็นข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการ (Telephone Audit) 330,380 ราย นอกจากนี้ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าทีสายด่วนและมีจิตอาสาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมให้บริการ เฉลี่ยวันละ 600 – 700 คน ปัจจุบันยังคงจำนวนคู่สายบริการ1600 คู่สาย พร้อมกันนี้ได้เพิ่มการให้บริการในช่องทางออนไลน์ เช่น LINE, Facebook, Line Chat, Email, Traffy Fondue, Pantip และ Web board
9.เพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จากผู้ใช้สิทธิบัตรทองผ่านแอปทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แอปพลิเคชันรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่มีประสิทธิผลยุคปัจจุบันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและติดตามการแก้ไขจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ สปสช. ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดช่องทางรับแจ้งปัญหาใช้สิทธิบัตรทองผ่านแอป ทราฟฟี่ ฟองดู เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565เป็นทางเลือกสื่อสารนอกเหนือจากระบบที่มีอยู่เดิมกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอ ทั้ง สายด่วน สปสช. 1330 ไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso)และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีประชาชนใช้เป็นช่องทางติดต่อกับ สปสช. 490 เรื่อง เป็นสิทธิบัตรทอง 320 เรื่อง
10.พัฒนา NHSO Dashboard คืนข้อมูลหลักประกันสุขภาพสู่สาธารณะสปสช.พัฒนาการรายงานข้อมูลการดำเนินงานกองทุนบัตรทองผ่าน “สปสช. แดชบอร์ด” (NHSO Dashboard) รูปแบบ infographic เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกัน เริ่มระบบรายงานเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 จำแนกการเข้าถึงข้อมูล 2 กลุ่มเป้าหมาย คือแดชบอร์ดสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถดูข้อมูลบริการสร้างเสริมสุขภาพที่จ่ายตามรายการบริการ บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ข้อมูลบริการคุ้มครองสิทธิเป็นต้น ส่วนแดชบอร์ดสำหรับหน่วยบริการเป็นกาดูข้อมูลเบิกจ่าย ผลดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง การคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม บริการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการรักษาพยาบาลตามวิถีใหม่ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จ่ายตามรายการบริการ เป็นต้นทั้งนี้ สปสช.แดชบอร์ด เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้การคืนข้อมูลสาธารณะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป