กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีนจัดอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็มเพื่อต่อยอดหมอแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษา
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีนจัดอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็มเพื่อต่อยอดหมอแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษา เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้ประชาชน ใน 28 โรคยอดฮิต เช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ล่าสุดผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 1,300 คน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็ม รุ่นที่ 36 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็มสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 35 รุ่น และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้น 1,330 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้หลักการแพทย์แผนจีนขั้นพื้นฐานในการวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ได้ตามมาตรฐานการแพทย์แผนจีนและสามารถให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการฝังเข็มผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า สำหรับการฝึกอบรมในปีนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยสถาบันการแพทย์ไทย - จีน ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งศาสตราจารย์ จ้ง เฉียงเหว่ย เป็นวิทยากรในการฝึกอบรม โดยมีแพทย์ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าฝึกอบรมฯ ทั้งสิ้นจำนวน 28 คน ประกอบด้วย โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 15 คน โรงพยาบาลภาครัฐนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 คน และภาคเอกชน 10 คน การฝึกอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็มนี้ มีทั้งภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติ และการศึกษาดูงาน มีการประเมินผลการฝึกอบรมโดยการสอบทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติ โดยมีหน่วยงานเครือข่ายจำนวน 13 แห่งให้ความร่วมมืออนุเคราะห์สถานที่ในการศึกษาดูงาน การฝึก และการสอบภาคปฏิบัติ ในการอบรมครั้งนี้
การฝังเข็ม เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการแพทย์แผนจีนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดกลุ่มของโรคหรืออาการที่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการฝังเข็มมีประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีใน 28 โรค เช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีหลักฐานว่ารักษาได้ผลดีแต่ควรมีงานวิจัยเพิ่มเติม กลุ่มที่น่าจะนำการฝังเข็มมาใช้ และกลุ่มที่การฝังเข็มจะตอบสนองได้ดีหากใช้ควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย อีก 78 โรคหรืออาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฝังเข็ม-รมยาโลก (The World Federation of Acupuncture and Moxibustion Societies : WFAS) ทั้งหมด 166 ประเทศทั่วโลก
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการขยาย สิทธิประโยชน์บริการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ในระยะฟื้นฟู (Golden period) ช่วงระยะเวลาตั้งแต่หลัง การเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke) 5 วัน – 180 วัน ร่วมกับบริการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care: IMC) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ลดความพิการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้สามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้โดยเร็ว ให้คนไทยได้รับประโยชน์ สามารถเข้าถึงบริการ และเพิ่มทางเลือก ในการดูแลสุขภาพของประชาชน ต่อไป