กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยแนวทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อสถานบริการสุขภาพปกติวิถีใหม่ มุ่งเน้นความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ ลดความแออัด และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการของประชาชน รับมือกับโรคโควิด 19 และโรคระบาดต่างๆ
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้สถานบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลภาครัฐได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ทั้งการให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) อุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงการบริการของคลินิก เพื่อตอบสนองมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งการให้บริการบางอย่าง ควรมีการปฏิบัติอยู่ต่อไป เนื่องจากยังมีการระบาดของโควิด 19 ให้เป็นวิถีใหม่ที่เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งโรงพยาบาลควรมีมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ใหม่ในการรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ต่อไปในอนาคต ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองแบบแผนจึงได้ดำเนินการโครงการแนวทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อสถานบริการสุขภาพปกติวิถีใหม่ ตามการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานการให้บริการทางการแพทย์ New normal medical service โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ ความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ (2P Safety) การลดความแออัดของการรับบริการ และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการของประชาชน เพื่อให้โรงพยาบาลมี ความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดต่างๆ และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกองแบบแผนได้วิเคราะห์เก็บข้อมูลดำเนินการสำรวจ จำนวน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี ระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระดับโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ระดับโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้คำแนะนำในการดำเนินการให้มีมาตรฐานในการป้องกันโควิด 19 ในโรงพยาบาลภาครัฐ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากการสำรวจโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 3 โรงพยาบาล พบว่าทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด 19 ไปแล้วบางส่วน ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงในแผนกผู้ป่วยนอก และแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่สำคัญของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นด่านแรกในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ จึงต้องมีความเข้มงวดในการคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 หรือติดเชื้อทางเดินหายใจได้ โดยกองแบบแผนได้ให้คำแนะนำกับโรงพยาบาลในการจัดการกับแผนกต่างๆ ดังนี้ 1) แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน (Emergency Department) ต้องแยกทางเข้า-ออก โดยแบ่งเป็นพื้นที่การให้บริการ หลัก 3 ส่วน คือ 1.1 พื้นที่คัดกรอง เป็นพื้นที่คัดแยกผู้ป่วยด้วยวิธีการสังเกตหรือสอบถามอาการ ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่รักษา 1.2 พื้นที่ปกติ (Clean area) สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยง และ 1.3 พื้นที่เสี่ยง (Contaminated area) เป็นบริเวณที่มีการปนเปื้อน สำหรับรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ต้องมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยรวมไปถึงงานระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องรองรับ เช่น ห้องความดันลบ ห้องควบคุมเชื้อความดันลบ หรือ Isolation zone เป็นต้น 2) แผนกผู้ป่วยนอก ควรแยกพื้นที่คัดกรองออกมา ภายนอกอาคาร ผู้ป่วยนอกโดยใช้การระบายอากาศแบบธรรมชาติ เป็นลักษณะอาคารห้องตรวจความดันลบ ที่มีระบบการทำงาน และการควบคุมระบบการไหลเวียนของอากาศ การระบายอากาศ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และในกรณีที่โรงพยาบาลมีพื้นที่ว่างเหลือเพียงพอควรจัดตั้ง 3) ARI CLINIC (Acute Respiratory Infection) คือ คลินิกคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเปิดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อคัดกรองผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์โควิด 19 แยกผู้ป่วยตาม ความเสี่ยง สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมากจะต้องเว้นระยะห่างที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ทั้งนี้โรงพยาบาลที่สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการแนวทางการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เพื่อสถานบริการสุขภาพปกติวิถีใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทางเว็บไซต์กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ dcd.hss.moph.go.th หรือติดต่อสายด่วน กรม สบส. 1426 หรือ 02 193 7000 ในวันและเวลาราชการ