จากความมุ่งมั่นตั้งใจจะพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน เพื่อขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ สู่การมีสุขภาพดีที่เป็นหนึ่งเดียว จึงได้มาเป็นศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" แหล่งรวม "ของดีศาลายา" อาหารคุณภาพที่คัดสรรเพื่อประชาชน ภายใต้แนวคิดเพื่อ "สุขภาพ สะอาด สะดวก" มารวมไว้ในคลิกเดียวเช่นปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย หัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเตรียมเปิดตัว "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์วันแม่แห่งชาติ ที่จัดขึ้น ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่ผ่านมา แล้วได้รับความสนใจจากประชาชนในชุมชนที่มาเที่ยวชมอุทยานฯ เป็นอย่างมาก
จุดเริ่มต้นของโครงการฯ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ โครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) ได้รวบรวมเอาคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลจากสหสาขาวิชาลงพื้นที่ร่วมพัฒนา "ชุมชนโพธิ์ทอง" ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ช่วยเหลือผู้ป่วยสูงวัยติดเตียง ตลอดจนครอบครัวที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจจาก COVID-19 รวมถึงเด็กด้อยโอกาสในชุมชน เพื่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับภาคีพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ เทศบาลศาลายา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศาลายา โรงเรียนวัดสาลวัน พบว่า "การสร้างอาชีพ" เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว และชุมชนจะเป็นทางออกที่ช่วยให้คนฟื้นตัวจากปัญหา COVID-19 ได้
งานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคมได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารสุขภาพชุมชนโพธิ์ทองเพื่ออบรมเพิ่มพูนทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาด COVID-19
ด้วยหลักสูตรการเรียนรู้เชิงปริวรรติด้วยการคิดเชิงออกแบบ (Transformative Learning by Design Thinking) ช่วยให้ชาวบ้านได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอาหารสุขภาพสู่ประชาคมศาลายา ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่วัตถุดิบปลอดภัยการปรุงอาหารสุขภาพ สะอาดถูกสุขอนามัย ส่งมอบถึงมือผู้บริโภคอย่างสะดวก และได้จัดตั้ง ศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" ขึ้นเป็นแหล่งรวมอาหารสุขภาพออนไลน์ เพื่อประโยชน์สำหรับชุมชน และกำลังจะขยายผลสู่แอปพลิเคชัน LINE MAN
ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ตจะดำเนินการในรูปแบบ "ธุรกิจเพื่อสังคม คืนกำไรสู่สังคม" ที่ตั้งเป้าหมายแรกเพื่อเพิ่มยอดผลประกอบการให้รัานค้าต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15
ในเบื้องต้นคณะทำงาน "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" ได้คัดสรร 11 ร้านคุณภาพ นำร่อง ไว้ในศูนย์อาหารสุขภาพออนไลน์ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต"
ด้วยความเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ จึงมั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับประทาน "อาหารที่ดีมีมาตรฐาน" จาก ชุมชนศาลายา" อาหารทุกเมนูที่อยู่ในศาลายาฟู้ดมาร์เก็ตเชื่อมั่นได้ว่าใช้วัตถุดิบคุณภาพที่มีอยู่ในชุมชน ปรุงด้วยรสที่ไม่เน้นหวาน มัน เค็ม จนเกินไป และแม้ไม่ใส่ผงชูรส ก็ไม่อ่อนด้อยในเรื่องรสชาติ หากเป็นของทอดจะไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และบางเมนูใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล และผักสดปลอดสารพิษจากแปลงผักภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
เมนูที่พลาดไม่ได้ อาทิ ข้าวห่อใบบัว เมี่ยงดอกบัวหลวง ส้มตำไข่เค็มออร์แกนิก กาแฟดำน้ำผึ้ง น้ำฟักข้าว จากร้านดังของศาลายา ได้แก่ ป้าแจ๋ว ป้าเรียม แม่นุช แม่ขนิษฐา และชานมไข่บุกวาคิม
ด้วย 3 ส "สุขภาพ สะอาด สะดวก" ที่เชื่อมั่นได้จาก "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" ก้าวต่อไป โครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) เตรียมขยายแนวคิดดังกล่าวสู่ 125 ร้านค้าภายใต้โครงการ "หน้ามอ น่ามอง" เพื่อดึงดูดใจผู้มาเยือนศาลายา
ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการวางแผนที่จะทำให้ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงพักกลางวัน การจัดเลี้ยงประชุม ต้อนรับแขกผู้มาเยือน หรือกิจกรรมใดๆ จะมีอาหารเพื่อสุขภาพจาก "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" มาเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของชุมชนอยู่ด้วยเสมอ เตรียม kick off เร็วๆ นี้
มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมอยู่เคียงข้างชุมชน และทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อชุมชน และมุ่งมั่นที่จะทำให้ "ศาลายาฟู้ดมาร์เก็ต" ได้เป็นแหล่งอาหารชั้นดี ที่จะสามารถจุดประกายสู่ชุมชนอื่นเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติได้ต่อไป
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210