สวทช.สังเคราะห์สารตั้งต้นยา 'ฟาวิพิราเวียร์' ใช้ต้านไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ

สวทช.

นักวิจัย สวทช. สังเคราะห์สารตั้งต้น ยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ สำเร็จทดแทนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ใช้เป็นยาต้านโรค COVID-19 องค์การเภสัชกรรมเตรียมศึกษาความเป็นไปได้กับ ปตท.สร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยา

           (3 มีนาคม 2564) ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุมดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการแถลงข่าว ความร่วมมือเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API: Active Pharmaceutical Ingredients) ของประเทศ: ยาต้านไวรัส “Favipiravir” โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมด้วยผู้บริหารและและนักวิจัยจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมแถลงข่าว

          ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วันนี้ผมยินดีและมีความสุขมากที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อใช้ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SAR-CoV-2) ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวาระที่นำเสนอในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน
          “การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยก็เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลกอย่างมากว่าเรามีการแพทย์และสาธารณสุขที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งในเอเชียและระดับโลก ที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน 2 ชนิด จาก 7 ชนิด และวัคซีนอีก 5 ชนิด กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยไม่เท่าไหร่ แต่การผลิตวัคซีนโดยคนไทยต่างหากที่เป็นเป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข
          นอกจากนี้ เรายังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีน ยา รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยรับมือต่อวิกฤติโรคระบาดในอนาคต ทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพราะเราไม่ได้มีแค่วิทยาการความรู้ แต่เรายังสามารถผลิตเพื่อการส่งขายได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีขณะนี้ สวทช. ได้เตรียมผลักดันเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยนำเรื่องการพัฒนาสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม สำหรับยา Favipiravir ต้านโรค COVID-19  บรรจุในโครงการ BCG กลุ่มสาขายาและวัคซีน แล้ว และเป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า สวทช. คือหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่ง สวทช. มีองค์ความรู้ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีทางด้านเคมีสังเคราะห์ที่จะช่วยหนุนเสริมองค์การเภสัชกรรมในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ได้เองภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมยาแบบครบวงจร และส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขของประเทศ
         “เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศไทยยังคงอยู่ระดับปลายน้ำ ต้องนำเข้าสาร API ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคต่างๆ จากต่างประเทศมากถึง 95% ดังนั้นหากเราสามารถสังเคราะห์ API ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตำรับยาได้สำเร็จ จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตยาได้ครบวงจรด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ให้กับประชาชนได้
          ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 โรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษา ทำให้มีความพยายามนำยาหรือสารออกฤทธิ์ต่างๆ มาทดลองรักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัส SARS-CoV-2 กระทั่งพบยาที่มีประสิทธิผลดีในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฟาวิพิราเวียร์”
         ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ด้วยโรค COVID-19 มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก ทำให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นที่ต้องการอย่างมาก ประเทศผู้ผลิตต้องเก็บไว้รักษาประชากรของตนเอง ทำให้ยาขาดตลาด การสั่งซื้อทำได้ยากและมีจำนวนจำกัด จึงอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาของผู้ป่วยในประเทศที่ไม่สามารถผลิตยาเองได้ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ สวทช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เดินหน้าวิจัยพัฒนากระบวนการผลิต API ด้วยตนเองในระดับห้องปฏิบัติการกระทั่งประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสูตรตำรับยาที่ทางองค์เภสัชกรรมดำเนินการอยู่ เพื่อใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับต้านโรค COVID-19
          “อย่างไรก็ดี ในกระบวนการสังเคราะห์ API นั้น แม้ทีมวิจัยจะเลือกแนวทางการผลิตที่ดีที่สุดจากหลายแนวทางการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ต้องใช้สารตั้งต้นที่มีราคาแพง ทำให้ทีมวิจัยเร่งศึกษาวิจัยต่อยอด พัฒนากระบวนการสังเคราะห์จากเดิม 6 ขั้นตอน เป็น 9 ขั้นตอน ถึงแม้จะมีขั้นตอนที่มากขึ้นแต่เป็นวิธีที่สามารถใช้วัตถุดิบราคาถูก หาได้ง่าย และพึ่งพาตนเองได้ โดย API ที่นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. สังเคราะห์ได้มีคุณภาพดี มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นทดแทน API ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับในขั้นต่อไป องค์การเภสัชกรรมจะขยายการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Scale) ร่วมกับทีมนักวิจัย ไบโอเทค สวทช. และจะมีการต่อยอดขยายผลไปสู่อุตสาหกรรม API โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายผลสู่ขั้นตอนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมยา สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลิตยาในประเทศ”

นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 องค์การเภสัชกรรม องค์กรหลักด้านยาของประเทศ  ได้มีการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับใช้ในโรค COVID-19 ในส่วนของวัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ องค์การฯ ได้ร่วมมือกับ สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ Favipiravir  ซึ่งขณะนี้ สวทช. ได้ดำเนินการในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ได้กระบวนการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นตัวใหม่ที่มีราคาถูกกว่าสารตั้งต้นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบันขณะนี้องค์การฯ อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขณะเดียวกัน สวทช. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับองค์การฯ เพื่อองค์การฯ จะได้พัฒนาต่อยอดกระบวนการสังเคราะห์ไปสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้องค์การฯ สวทช.  และ ปตท. จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยา Favipiravir และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวัตถุดิบยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุข และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทย นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการ BCG ได้บรรจุแผนการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบลงในแผนสาขาด้านยาและวัคซีน เพื่อสามารถให้การสนับสนุนต่อไป