นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการจัดทำแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) ครั้งที่ 1 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ว่า เนื่องจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ในการกำหนดวิธีการดูแลสุขภาพของบุคคล อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ประมาณ ร้อยละ 20 ถึง 50 อาจไม่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่มากเกินความจำเป็น (Over utilization) ก็น้อยเกินไปจนอาจละเลยการตรวจที่จำเป็น (Under utilization)
นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัย และตัวแทนโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกภาคของประเทศ สร้างต้นแบบระบบการบริหารจัดการและการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแนวทางช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ประกอบการตัดสินใจ ทั้งในการคัดกรอง วางแผนดูแลสุขภาพ วินิจฉัย รักษา และติดตามผล โดยมุ่งหวังให้การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีความเหมาะสม คุ้มค่า และเป็นประโยชน์มากที่สุด หรือที่เรียกว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ ในระดับสุขภาพของบุคคลแล้ว ยังส่งผลให้ระบบสุขภาพในภาพรวมสามารถใช้ทรัพยากรทางสุขภาพให้เป็นประโยชน์ แก่ประชาชนหมู่มากได้อย่างเพียงพอ อันจะทำให้ระบบสุขภาพมีความมั่นคงและยั่งยืน
“สำหรับการสัมมนาจัดทำแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU) ในครั้งนี้ ลักษณะสำคัญของกิจกรรมคือ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการนำแนวคิด RLU ไปสู่การประยุกต์ใช้จริงในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลนำร่องของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านวิชาการ ต่อร่างแนวทาง ที่ได้เคยยกร่างเอาไว้เบื้องต้น เพื่อเติมเต็ม และทำให้แนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (RLU) มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีกิจกรรม เยี่ยมชมการดำเนินงานจริงของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่อง ที่ได้มีการประยุกต์ RLU สู่การปฏิบัติ อย่างได้ผลในระดับหนึ่งอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหวังว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้ RLU สามารถเกิดขึ้นได้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ และสร้างประโยชน์ต่อระบบสุขภาพได้เป็นอย่างดีต่อไป” นายแพทย์ปิยะ กล่าว