วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็น "วันแห่งการยุติการเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยกเชื้อชาติสากล"
สังคมโลกจะอยู่อย่างสันติ ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยกได้นั้น จำเป็นต้องมี "ภูมิคุ้มกันทางด้านสิทธิมนุษยชน" ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) เป็นสถาบันแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่จัดการเรียนการสอนและการวิจัยในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา โดยมุ่งให้คนในสังคมโลก แม้จะมีความต่าง แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน
อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของ "ภูมิคุ้มกันบกพร่องทางด้านสิทธิมนุษยชน" ในสังคม เกิดจากระบบอำนาจนิยม และปัญหาของระบบการศึกษาที่อ่อนด้อยด้านการบ่มเพาะทักษะการคิดที่หลากหลาย ที่ผ่านมาเราเคยชินกับการบอกให้จำ บอกให้เชื่อ แต่ไม่ได้ฝึกให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ตลอดจนฝึกตั้งคำถาม การเรียนรู้จึงถูกปิดกั้น ซึ่งสามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกรับฟัง เปิดใจให้กว้าง และฝึกตั้งคำถามในการสนทนาโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ "สืบสอบ" หรือ "Enquiry"
"เราสามารถนำกระบวนการเรียนรู้แบบ "Enquiry" มาใช้ในการทำความเข้าใจกับประเด็นที่มีความสำคัญกับคนในชุมชนหรือสังคม ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่าง แต่เป้าหมายไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะกัน หรือทำร้ายกัน ซึ่งหากเรารู้จักเปิดใจให้กว้างรับฟังผู้อื่น เรายังสามารถเลือกที่จะเห็นไม่ตรงกันได้ หรือจุดยืนของเราอาจเปลี่ยนได้ในวันข้างหน้า ถ้าเราได้ฟังเหตุผลที่ดีกว่า แล้วเราก็ยังคงเป็นเพื่อนกันได้ "We can agree to disagree." อาจารย์ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ กล่าว
การฝึกทักษะ "Enquiry" จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สะท้อนตัวเอง ได้ตรวจสอบความเชื่อ และความคิดของตัวเอง โดยมีผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ หรือ Facilitator มากกว่าที่จะเป็น Lecturer หรือผู้บรรยาย โดยชวนให้ตั้งคำถาม และทำความเข้าใจร่วมกันในเชิงวิพากษ์ อาทิ มองแล้วคิดอย่างไร แล้วถ้ามองต่างจะมองอย่างไร มองแบบอื่นอีกได้ไหม ทำอย่างไรให้เกิดการคิดอย่างมีเหตุผล การคิดอย่างร่วมมือ การคิดอย่างสร้างสรรค์ และการคิดอย่างเอื้ออาทร ฯลฯ
ซึ่งปัจจุบัน โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) กำลังรวบรวมประสบการณ์จากโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้แบบ "Enquiry" มาพัฒนาเป็น resource book ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่มุ่งให้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย