กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ลงพื้นที่ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ปรากฏไม่พบผู้กระทำผิด และได้มีการตรวจ เยี่ยมชุมชน และหมอพื้นบ้านที่ปลูกกัญชา พร้อมเปิดเผยความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียน การใช้กัญชาทั้ง 4 ภาค ที่นำมาใช้ประโยชน์ในวิถีชุมชน
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า สถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ยื่นขออนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ทั้งหมด 64 ราย ได้รับใบอนุญาตแล้ว 26 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 30 คำขอ และจากการลงพื้นที่ ณ หาดทรายรี เกาะเต่า ตรวจสถานประกอบการ 2 ร้านไม่พบการกระทำผิด เนื่องจากมีใบอนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปช่อดอกกัญชา แสดง ครบถ้วน ถูกต้อง ณ ที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน จึงได้ให้คำแนะนำในการกรอกข้อมูล แบบรายงานตามแบบกรมการแพทย์แผนไทยฯ กำหนด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากผู้ประการและขอความร่วมมือ เจ้าพนักงานตำรวจ ท้องที่ /พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ กำกับ กำชับ สื่อสาร ตรวจตรา เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้น นายแพทย์ธงชัย ยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบันกรมฯมีตำรับยาสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติและได้รับการคัดเลือก กลั่นกรอง สังเคราะห์ จากผู้เชี่ยวชาญ/หมอแผนไทย/พื้นบ้าน และหลักฐานการใช้จัดทำเป็นรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีจำนวน 324 ตำรับ ในจำนวนนี้มีตำรับยาที่มีกัญชาผสมปรุงเฉพาะรายใช้ในระบบบริการสุขภาพแล้ว 19 ตำรับ ในส่วนภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านในชุมชน พบตำรับยากัญชาที่หมอพื้นบ้านใช้ในการปรุงเป็นตำรับยาในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 76 ตำรับ จากหมอพื้นบ้าน 20 รายจากภูมิภาคต่างๆ ที่ยื่นขอรับรองตำรับกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาเป็นส่วนประกอบในตำรับ ทั้ง ช่อดอก ใบ ราก เมล็ด และ ลำต้น ด้านพื้นที่เกาะเต่า อำเภอ พะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการใช้กัญชาตำรับยาน้ำมันกัญชา (ลุงดำ) รักษาผู้ป่วย ได้แก่ ตำรับยาต้มกัญชา สรรพคุณ บรรเทาการปวดเมื่อย นอนไม่หลับ มีการนำตำรับกัญชามาใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน สะเก็ดเงิน ผื่นแพ้ ผื่นเคมี แผลเบาหวาน แผลกดทับ เป็นต้น ตำรับยาน้ำมันกัญชา (ลุงดำ) เป็นยากัญชาทั้ง 5 ตามองค์ความรู้พื้นบ้านที่นำกัญชาทั้ง 5 ส่วน ได้แก่ ดอก เมล็ด ราก ใบ และกิ่งก้าน มาเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว โดยมีการควบคุมคุณภาพในการผลิต และมีปริมาณสารสำคัญ THC 0.02% ล่าสุด ยากัญชานี้ ได้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ถอดองค์ความรู้การใช้กัญชาของชาวบ้านทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่า มีการใช้ในวิถีชีวิต เป็นทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่มห่ม เครื่องสำอาง เช่น ภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ตาก อุทัยธานี ใช้น้ำมันจากเมล็ด ทาผิว เส้นใย ทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาในตำรับยาในการดูแลสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มีการผสมส่วนที่เป็นใบ ลำต้นกัญชาในเครื่องปรุงที่เรียกผงนัวเพื่อให้อาหารมีรสชาติอร่อย ลดการใช้ผงชูรส ภาคกลาง ที่จังหวัดเพชรบุรี ใช้ยอดกัญชาในอาหารประเภทแกง ต้ม และ ภาคใต้ ที่วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง มีการใช้ในตำรับอาหาร เป็นต้น
หากประชาชนสนใจหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขออนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้า ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นขออนุญาต ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย กองคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5607-8 หรือ 0 2591 7007 ต่อ 3708, 3713”
อธิบดีแพทย์แผนไทยฯ ลงพื้นที่เกาะเต่า สร้างความเข้าใจสถานประกอบการกัญชา ไม่พบผู้กระทำผิด พร้อมเผย องค์ความรู้ การใช้กัญชาตามภูมิปัญญา 4 ภาคเพื่อการใช้ประโยชน์ตามวิถีชุมชน
www.medi.co.th