สปสช. เข้าหารือ กรมแพทย์ทหารอากาศ ขอสนับสนุนโรงพยาบาลในสังกัดให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง เพื่อดูแลสุขภาพผู้มีสิทธิอื่นต่อเนื่อง ระหว่างรอความชัดเจนข้อกฎหมาย พร้อมรับข้อเสนอการเบิกจ่ายสู่การพัฒนาระบบต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผอ.สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร และ พล.อ.อ. นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. พร้อมด้วยคณะเข้าหารือร่วมกับ พลอากาศโท วรงค์ ลาภานันต์ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ และผู้บริหารโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ที่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเดินหน้าความร่วมมือในการดูแลประชาชนให้เกิดการเข้าถึงบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติชะลอการจ่ายงบประมาณบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของประชาชนผู้ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง 30 บาท อาทิ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ, รัฐวิสาหกิจ และประกันสังคม เป็นต้น เพื่อรอความชัดเจนทางกฎหมายในมาตรา 5, 9 และ 10 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิอื่นซึ่งไม่ใช่สิทธิบัตรทองได้รับการดูแลสร้างเสริมสุขภาพฯ อย่างต่อเนื่อง สปสช. จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีสถานพยาบาลภายใต้สังกัดและร่วมบริการระบบบัตรทอง 30 บาท ได้ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กับผู้ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง 30 บาทในระหว่างนี้ไปก่อน
สำหรับในวันนี้จึงได้มาหารือขอการสนับสนุนจากกรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อให้โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในสังกัด อาทิ โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลทหาอากาศ (สีกัน) เป็นต้น ร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ รวมถึงบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกับผู้ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง เฉพาะประชากรที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของโรงพยาบาลเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ สปสช. ได้ขอการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ทหารบก และกรมการแพทย์ทหารเรือก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากผลจากการประชุมเป็นไปได้ด้วยดี โดยทางเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศมีความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น ซึ่ง สปสช.ชี้แจงโดยย้ำว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้กองทุนบัตรทอง 30 บาท สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับผู้มีสิทธิอื่นไว้แล้วจำนวน 5.14 พันล้านบาท เพียงแต่เมื่อมีการท้วงติงข้อกฎหมายทำให้ต้องมีการชะลอการจ่ายเงินในส่วนนี้ออกก่อนเท่านั้น ไม่ใช่ไม่มีงบประมาณดำเนินการ ขณะที่สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ มีเพียงกองทุนบัตรทอง 30 บาทที่ครอบคลุมดูแล
“ในการหารือกับกรมแพทย์ทหารอากาศในครั้งนี้ และหน่วยงานอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งมอบให้ สปสช. ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สถานพยาบาลหรือหน่วยบริการภายใต้สังกัดให้บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์สุขภาพที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง และเป็นบริการที่ควรได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นบริการฝากครรภ์คุณภาพ บริการวัคซีนพื้นฐาน เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในโอกาสนี้ผู้บริหารโรงพยาบาลสังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศยังได้หารือในข้อติดขัดการเบิกจ่ายค่าบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เช่น กรณีการเบิกจ่ายค่าบริการคัดกรองโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยในที่เกินระยะเวลาการใช้งบประมาณ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ค่าบริการที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายชดเชยได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการต่างๆ ให้กับหน่วยบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง อาทิ กำหนดช่องทางการส่งข้อมูลการเบิกจ่ายชดเชยให้มีเพียงช่องทางเดียว การกำหนดการตรวจสอบการเบิกค่าชดเชยให้เหมาะกับบริบทของสถานพยาบาลแต่ละระดับ และการเบิกค่าบริการโครงการพิเศษควรดำเนินการร่วมกับการักษาตามสิทธิพื้นฐาน เป็นต้น โดย สปสช. ได้รับข้อเสนอต่างๆ นี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบต่อไป