GARDP จับมือกับ SICRES เสริมความแกร่งด้านการวิจัยทางคลินิก โดยมีเป้าหมายหลักมุ่งเน้นการรักษาโรคติดเชื้อที่ดื้อยาครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย

www.medi.co.th

องค์กร The Global Antibiotic Research and Development Partnership หรือ GARDP ได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมกับศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ SICRES เพื่อความร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยของการดื้อยาต้านจุลชีพ โดย GARDP และ SICRES มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อเร่งการพัฒนา และการเข้าถึงยารักษาโรคติดเชื้อที่ดื้อยาในประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง และส่งเสริมความแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนาทางคลินิกที่ไม่แสวงหาผลกำไรของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยและคาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีความเสี่ยงสูงสุดด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อสุขภาพ และสุขภาวะของประชากรทั่วทั้งภูมิภาค


 


SICRES และ GARDP ได้เริ่มทำงานร่วมกันในโครงการวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 3 ของยารักษาโรคหนองในตัวใหม่ (gonorrhoea) ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านขั้นตอนการจัดเตรียม ตลอดจนการดำเนินงานด้านวิจัยของ SICRES ในไทย โครงการดังกล่าวยังมีไซด์งานวิจัยอื่น ๆ ทั่วโลกในประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้จะปูทางสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนายาปฏิชีวนะอีกหลากหลายโครงการในอนาคต


 


“เรารู้สึกตื่นเต้นกับการขยายงานของเราในไทยร่วมกับ SICRES ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพ และความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เพื่อการพัฒนา และการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างทั่วถึงในไทย และครอบคลุมประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้” กล่าวโดย เชมุส โอไบรอัน ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนา GARDP “ทั้ง GARDP และ SICRES มีพันธสัญญาร่วมกัน เพื่อริเริ่มการวิจัยทางคลินิกสำหรับยาปฏิชีวนะ ความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการดำนเนินงาน คือ สาธารณสุขของประชากรทั่วทั้งภูมิภาค”

“หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร เพื่อดำเนินงานด้านการวิจัยทางคลินิกที่ไม่แสวงหาผลกำไร จะผลักดันประเทศไทยให้โดดเด่น และมีชื่อเสียงด้านการเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาของภูมิภาคนี้ SICRES มีความกระตือรือร้นที่จะนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาขององค์กร เพื่อช่วยปูทางสู่ความสำเร็จในโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกับ GARDP” กล่าวโดย รศ. นพ. วินัย รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก


 


หนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ ได้กำหนดขอบเขตการทำงานที่ทั้งสององค์กรเห็นถึงศักยภาพ และความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางคลินิกของยาปฏิชีวนะ การจัดการข้อมูล การประเมินประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ  วัตถุประสงค์อื่น ๆ ครอบคลุมถึงการนำผลการวิจัยที่พัฒนาร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายระดับประเทศ และการปรับปรุงการเข้าถึงยาต้านจุลชีพให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยมีความจำเป็นใช้ยาในภูมิภาคนี้