กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยองค์การอนามัยโลก(World Health Organization-WHO)ร่วมมือกับองค์การด้านโรคลมชักสากล ในการแก้ปัญหาโรคลมชักระดับโลก และ ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบรับนโยบายดังกล่าว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก(World Health Organization –WHO) ได้ประกาศ“WHO Global Actions on Epilepsy and Other Neurological Disorders"ร่วมมือกับองค์การด้านโรคลมชักสากลในการแก้ปัญหาโรคลมชัก ซึ่งโรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรงและกระทบต่อทุกช่วงอายุ มากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกและมากกว่า 5 แสนคนในประเทศไทย WHO จึงสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในระดับประเทศ พร้อมรับมือกับผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักในระดับสาธารณะ เพราะผู้ป่วยโรคลมชักส่วนมาก สามารถดำเนินชีวิตปกติโดยปราศจากอาการชักถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยได้ตอบรับนโยบายขององค์การอนามัยโลกและองค์การด้านโรคลมชักสากล วันโรคลมชักสากล International Epilepsy Day เป็นวันที่กำหนดขึ้นโดยองค์การต่อต้านโรคลมชักสากล ในวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคลมชักใน ประเทศต่างๆทั่วโลก มากกว่า 120 ประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในสังคมได้มาพบปะพูดคุยเพื่อแสดงความสนใจถึงปัญหาของผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการแพทย์ หรือปัญหาทางสังคม ให้เป็นเสียงที่มีพลังรวมใจ เพื่อผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลก สถาบันประสาทวิทยา ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังของกรมการแพทย์มีภารกิจหลักในการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ผลิตพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีด้านโรคระบบประสาท สู่เครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมชักจัดเป็นโรคทางสมอง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพและสังคมต่อผู้ป่วยและครอบครัว ตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือผู้สูงอายุ โรคลมชักสามารถให้การรักษาหายได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม สำหรับประชาชนทั่วไปจะมีส่วนสำคัญในการให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด เพราะอาการชักสามารถหยุดได้เอง แค่ดูแลความปลอดภัยจนผู้ป่วยหยุดชัก และในฐานะประชาชนทั่วไปที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นครู นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ควรให้โอกาสผู้ป่วยที่รับการรักษาจนอาการคงที่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถเต็มศักยภาพโดยไม่ปิดกั้น สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์จึงได้จัดกิจกรรมวันโรคลมชักขึ้นทุกปี ในสถานการณ์ปกติ จะกำหนดกิจกรรมในวันจันทร์ที่ 2 ชองเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ 19 จึงเลื่อนกิจกรรมวันโรคลมชักมาจัดในเดือนมีนาคมแทนและในปีนี้สถาบันประสาทวิทยาได้จัดโครงการ “วันโรคลมชัก”เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนโดยวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 จัดกิจกรรม ณ บริเวณโถงโอพีดีสถาบันประสาทวิทยา และในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภากรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ได้ร่วมผลักดันนโยบายที่สำคัญเพื่อผู้ป่วยโรคลมชักด้วยดีตลอดมาตามวิสัยทัศน์ของกรมการแพทย์ “ประชาชนสุขภาพดี ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค”