โรงพยาบาลกำแพงเพชร เดินหน้าสู่ Smart Hospital พัฒนาโปรแกรม “IPD Paperless KPHIS” ลดใช้กระดาษ ลดข้อผิดพลาดจากการทำงาน

www.medi.co.th

โรงพยาบาลกำแพงเพชร ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็น Smart Hospital นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พัฒนาโปรแกรม “IPD Paperless KPHIS” ผู้ป่วยในไร้เอกสาร ช่วยลดการใช้กระดาษ ลดพื้นที่ในการจัดเก็บ และลดความเสี่ยงเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงาน


แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลกำแพงเพชร ได้ดำเนินงานตามนโยบาย Smart Hospital ของกระทรวงสาธารณสุข โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตั้งแต่ปี 2561 จนสามารถยกเลิกการใช้เอกสารบันทึกผู้ป่วยนอก (OPD card) ได้ ปัจจุบันได้พัฒนา “โปรแกรมผู้ป่วยในไร้กระดาษ” (IPD Paperless KPHIS) เพิ่มความสะดวกในการบันทึกข้อมูลระบบดิจิทัล ลดเวลาและลดความเสี่ยงเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงาน โดยออกแบบให้ใกล้เคียงกับระบบงานเดิม ทำให้ใช้งานง่ายแต่มีระบบความปลอดภัยสูง โดยแยกการทำงานของบุคคล มีฟังก์ชั่นการทำงานที่เป็นเทมเพลตของแต่ละระบบเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว อาทิ กำหนดสูตรยา, ข้อมูลบันทึกทางการพยาบาล, การประสานเชื่อมโยง ส่งต่อข้อมูลยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย, แจ้งเตือนการแพ้ยา, ยาที่ใช้บ่อย และมีการแสดงข้อมูลสัญญาณชีพจากเครื่องติดตามสัญญาณชีพและการทำงานของหัวใจในรูปแบบกราฟ คำนวณค่าทางการแพทย์ต่าง ๆ และแจ้งเตือน นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงระบบแสดงผลทางห้องปฏิบัติการ เอ็กซเรย์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สืบค้นประวัติและผลตรวจเดิมได้ทันที พร้อมสรุปเวชระเบียนอัตโนมัติเพื่อเรียกเก็บเงินได้ครบถ้วนมากขึ้น และสามารถใช้พร้อมกันได้หลายคนในเวลาเดียว

“ได้มีนโยบายผลักดันให้ทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 3 ติดตั้งโปรแกรม IPD Paperless KPHIS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงสนับสนุนให้โรงพยาบาลนอกเขตฯ นำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พบว่าได้ผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม เช่น โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลชัยภูมิ โรงพยาบาลเลย โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลไพศาลี นครสวรรค์ เป็นต้น” แพทย์หญิงวิพรรณกล่าว


ด้านนายแพทย์สุรชัย แก้วหิรัญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวว่า การบันทึกเวชระเบียนผู้ป่วยในแบบเดิมที่เป็นกระดาษจะมีเงื่อนไขจำนวนมาก ทั้งเวลาที่ใช้ในการบันทึก ความซับซ้อนในการทำงาน และยังมีปัญหาการสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ ที่ล่าช้า ผิดพลาดจากลายมือ ค้นหาได้ยาก สูญหาย และข้อมูลยากต่อการทำงานวิจัย รวมถึงต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บจำนวนมาก โรงพยาบาลจึงได้ระดมความคิดจากทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันศึกษาดูงานเพื่อหาต้นแบบ วิเคราะห์ระบบงานเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทงานและความต้องการของผู้ใช้งาน จากนั้นทำการเขียนโปรแกรมโดยทีมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเอง โดยเริ่มจากแผนกกุมารเวชกรรม และขยายไปยังหอผู้ป่วยอื่นๆ จนปัจจุบันใช้โปรแกรมครบทุกหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังพัฒนาในระบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น คลินิกหัวใจ และห้องคลอด เป็นต้น ซึ่งพบว่าทำให้การทำงานด้านเอกสารลดลงกว่าร้อยละ 60-70 ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากระบบการแจ้งเตือน ลดความเสี่ยงได้ร้อยละ 80 ผู้ป่วยได้รับยาไวขึ้น และพยาบาลมีเวลาดูแลผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ด้านผู้ใช้งานระบบ มีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 95 ลดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร และลดการใช้กระดาษก๊อปปี้ได้กว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี