ม.มหิดลร่วมผลักดัน ‘ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน’ บรรลุเป้าหมาย SDGs

www.medi.co.th

ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้มนุษย์และสัตว์ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน   


อาจารย์ ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้ร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการจัดตั้ง "ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน" (Community Biodiversity Bank) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ "BEDO Thailand" ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนแพร่หลายไปทั่วประเทศไทยเช่นปัจจุบัน


BEDO เป็นหน่วยงานในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรชีวภาพและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพที่มีในท้องถิ่นในรูปแบบของธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน หรือเรียกย่อๆ ว่า BioBank


โดยหัวใจหลักของ BioBank เป็นแหล่งเก็บรักษาทรัพยากรทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้การบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ในการร่วมใช้ทรัพยากรและพื้นที่


 


หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ BioBank มีหลักการดำเนินการคล้ายกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งมีทั้งการ "ฝาก" และ "ถอน" หากเป็นธนาคารจะเป็นรูปแบบตัวเงิน แต่หากเป็น BioBank มีความท้าทายตรงที่ว่า การฝาก-ถอน เป็นทรัพยากรชีวภาพที่เป็นสิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ พืช สมุนไพร เมล็ดพันธุ์ จะมีวิธีบริหารจัดการให้เกิดความยั่นยืนได้อย่างไร  


จากการลงพื้นที่ชุมชนนำร่องการจัดตั้ง BioBank 12 ชุมชน 8 จังหวัด (เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์) เราได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของชุมชนที่รักษา หวงแหนทรัพยากรฐานชีวภาพของชุมชนไว้ ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง แต่ให้คงอยู่ไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน


ในกระบวนการขับเคลื่อน BioBank ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำทั้งระบบ ตั้งแต่การสำรวจ รวบรวม บันทึกข้อมูลสายพันธุ์ จดพิกัดพื้นที่ รักษาพันธุ์และขยายพันธุ์ตามหลักวิชาการ จัดเก็บภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้รู้ และถ่ายทอดให้กับเยาวชนในพื้นที่ จนถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ และต้องสร้างความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น (อบต.) และหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่ช่วยกันผลักดันและมีส่วนร่วมกันทุกกระบวนการ


 


ในตอนนี้ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจัดตั้ง BioBank เปรียบเสมือนหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไป รดน้ำ พรวนดิน ดูแลแปลงอย่างดี จึงทำให้เมล็ดพันธุ์อยู่ในช่วงเติบโต เป็นต้นไม้กำลังผลิดอกออกผล


 


แต่ที่ผ่านมายังพบปัญหาอุปสรรคจากภัยคุกคามจากเกษตรแปลงใหญ่ การรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ควรทำตลาดเฉพาะในการขาย ความต่อเนื่องในการสนับสนุนของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น โครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไปที่ครอบครัวรุ่นใหม่ย้ายเข้าไปใช้ชีวิตในเมือง ตลอดจนการสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการนำกลับมาหล่อเลี้ยงระบบให้เกิดความยั่งยืน


 


ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการจัดการกับทุกพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรชีวภาพที่ไม่เหมือนกัน คนละสายพันธุ์ ลักษณะดิน น้ำ แร่ธาตุก็ไม่เหมือนกัน อาทิ การปลูก มะพร้าวแกงในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การปลูก กล้วยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก การปลูก หัวมันและ ท้าวยายม่อมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และการปลูก ต้นแจงพืชไม้ยืนต้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีคุณสมบัติในการช่วยฟอกอากาศ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่เข้ามาสนับสนุนต้องเข้าใจในบริบทพื้นที่ สภาพความพร้อมด้านต่างๆ ของชุมชน


 


อาจารย์ ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข ได้เสนอแนะให้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพชุมชนเพื่อยกระดับความสำคัญให้ทัดเทียมกับพืชเศรษฐกิจ และออกแบบแพลตฟอร์มความร่วมมือเชิงพื้นที่ โดยการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาพันธุกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในระดับสากล


 


"เป็นที่น่าเสียดาย หากประเทศไทยซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หากยังไม่มีการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจฐานชีวภาพชุมชนจะเป็นกลไกหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้" อาจารย์ ดร.รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข กล่าว


 


มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ด้วยความห่วงใยต่อทุกชีวิต โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก เพื่อร่วมประคับประคองให้มนุษย์และสัตว์คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน


 

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


 


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210