กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผย ปัญหาสุขภาพโลกมีความซับซ้อนและมีขอบเขตที่กว้างไกล อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรสู่ประชากรสูงอายุและด้านระบาดวิทยาของโรค ทำให้มีโรคเพิ่มขึ้นจากทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคติดต่อจากเชื้ออุบัติใหม่ นอกจากนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกในหลายมิติ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านสุขภาพโลกของไทยสามารถตอบสนองต่อบริบทดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสุขภาพโลกเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรและขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้สุขภาพโลกเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนประเทศในหลายรูปแบบ รวมทั้งการประชุมในระดับต่างๆ โดยเฉพาะความรู้ทางวิชาการแพทย์ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาด้านสาธารณสุขภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะราชอาณาจักรภูฏานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมานาน ทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขของทั้งสองประเทศได้ลงนามความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกัน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในราชอาณาจักรภูฏานมีความเข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยะประเทศ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับใหม่ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 แทนที่ฉบับเดิมซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกันมานานกว่า 30 ปี (ความร่วมมือด้านสาธารณสุขฉบับเก่า พ.ศ.2530) เพื่อกระชับความร่วมมือในสาขาเดิม และขยายสาขาความร่วมมือใหม่ใน 11 สาขา ได้แก่ การควบคุมโรค อาหารปลอดภัยและการทดสอบคุณภาพยา การแพทย์ดั้งเดิม ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ ทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การให้บริการด้านการบำบัดและรักษายาเสพติด การวิจัยและการศึกษาด้านการแพทย์ ระบบการกำกับดูแลยาของประเทศ และสาขาความร่วมมืออื่นๆ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการศึกษาในสาขาการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนการสร้างศักยภาพในการดำเนินงาน สร้างเสริมความเข้มแข็งของการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศภูฏาน รวมถึงความร่วมมือในการส่งผู้ป่วยที่มีภาวะซับซ้อนมารักษาต่อที่ประเทศไทย และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรคไต และโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี ได้เพิ่มบทบาทในการเป็น National Policy Advocacy โดยเฉพาะกับบทบาทการพัฒนาด้านการดูแลรักษาเฉพาะทาง ที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกเขตสุขภาพ มากกว่า 100 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญและสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารได้ในเขตสุขภาพ เพื่อลดการส่งต่อมารักษาในกรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียม และพัฒนากลไกการให้บริการด้านการรักษาประชาชนอย่างมีคุณภาพ ดำเนินการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการแพทย์เพื่อจะได้เกิดเป็นเครือข่ายที่ยั่งยืน สอดคล้องตามภารกิจและยุทธศาสตร์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ให้กับต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศพม่า ลาว กัมพูชา อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น และราชอาณาจักรภูฏาน ที่ได้ส่งทีมศัลยแพทย์ที่ขาดแคลนในประเทศเข้ารับการศึกษาหลักสูตรเฉพาะทางด้านการผ่าตัด และการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในการป้องกันและยับยั้งโรคระบบทางเดินอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะราชอาณาจักภูฏานที่ส่งทีมแพทย์เข้ามาศึกษาหลักสูตรเฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารในโรงพยาบาลราชวิถีในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างศูนย์ส่องกล้องโรคทางเดินอาหารในประเทศของตนเองให้มีความเข้มแข็ง โดยโรงพยาบาลราชวิถีมีภารกิจหลักที่ให้การช่วยเหลือในทุกมิติเพื่อให้โครงสร้างด้านสาธารณสุขในราชอาณาจักรภูฏานมีความเข้มแข็งและประชาชนทุกระดับเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
นายแพทย์ทวี รัตนชูเอก ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร และกลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Thai-Bhutan Laparoscopic Endoscopic Surgery มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือราชอาณาจักรภูฏานในการพัฒนาทางโครงสร้างด้านการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้อง การผ่าตัด ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศในการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนในราชอาณาจักรภูฏาน ให้ความรู้ทางวิชาการแพทย์ และเพิ่มบทบาทการพัฒนาแพทย์ส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนากำลังคน และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสุขภาพโลกเชิงรุกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์โรงพยาบาลราชวิถีในการเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ (Excellent Institute) และสอดคล้องตามแผนปฏิบัติราชการกรมการแพทย์ในการทำงานแบบเปิดกว้างและเชื่อมโยง (Open platform organization) อีกทั้ง เป็นการตอบสนองโครงการความร่วมมือเครือข่ายทางการแพทย์เฉพาะทางภายใต้แฟลตฟอร์มด้านวิชาการ/บริการ ทางการแพทย์กับต่างประเทศ (Global Health) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกด้วย