จ.บุรีรัมย์ จัดตั้งสถานีสุขภาพชุมชน 2,894 แห่ง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ช่วยผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน ควบคุมโรคได้ดีขึ้น

www.medi.co.th

จังหวัดบุรีรัมย์ จัดตั้งสถานีสุขภาพชุมชน 2,894 แห่ง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ดูแลสุขภาพคนในพื้นที่เน้นกลุ่มโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ใช้กลไก 3 หมอเชื่อมโยงระบบบริการ จากกรณีศึกษาที่ รพ.ประโคนชัย พบช่วยลดเวลารอคอยการรักษาจาก 4 ชม. เหลือ 2 ชม. รวมทั้งคุมโรคในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 75% และผู้ป่วยเบาหวานคุมระดับน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น 40% พร้อมจัดบริการพิเศษพบแพทย์และเภสัชกรทางไกล จัดส่งยาทางไปรษณีย์ ประชาชนพึงพอใจการเข้าถึงบริการที่ง่าย สะดวก และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เปิดเผยว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย โดยเขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ในอนาคต สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของเขตสุขภาพที่ 9 ที่พบปีละประมาณ 20,000 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงติด 1 ใน 5 ลำดับ จึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดในเขต จัดตั้งสถานีสุขภาพ (Health Station) ในชุมชน บูรณาการระบบบริการที่เชื่อมโยงโดยใช้กลไก 3 หมอ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ในการดูแลสุขภาพ และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพเบื้องต้นได้สะดวกและรวดเร็ว


ด้านนายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดตั้งสถานีสุขภาพในชุมชน 2,894 แห่ง ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และให้ อสม. หมอคนที่ 1 เข้ามามีส่วนร่วมดูแลคนในชุมชน คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น อาทิ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน เจาะน้ำตาลในเลือด โดยเริ่มแรก อสม. จะเป็นผู้ทำให้เมื่อประชาชนได้ใช้บริการเป็นประจำก็จะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจ จนสามารถตรวจสุขภาพตัวเองได้ ในส่วนของผู้สูงอายุ จะมี อสม.ประจำสถานีฯ ให้บริการและลงบันทึกผลการตรวจสุขภาพผ่าน QR Code r9 และ Smart อสม. ซึ่งข้อมูลจะส่งต่อไปยังหมอคนที่ 2 ทันที โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในหน่วยบริการปฐมภูมิจัดการข้อมูลผ่านระบบรายงาน หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะนำเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชน โดยทำงานร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิ สำหรับกลุ่มที่สงสัยป่วยจะมีการกำกับติดตาม และส่งต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็ว


ในส่วนการจัดบริการกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้บูรณาการการทำงานเชื่อมโยงจากสถานีสุขภาพมาสู่คลินิกโรคเรื้อรังในสถานบริการ โดยจัดระดับอาการเป็น 4 สี คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดย สีส้ม สีแดง หมายถึง กลุ่มที่คุมโรคได้ไม่ดี จะส่งมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เจาะเลือด พบแพทย์ และรับยาแบบ one stop service และมีบริการพิเศษตรวจสุขภาพฟันให้ด้วย ส่วนสีเขียวและสีเหลือง หมายถึง กลุ่มที่คุมโรคได้ดีจะได้พบแพทย์ครั้งเว้นครั้ง และมีเจ้าหน้าที่นำยาที่ได้รับจัดส่งให้ที่สถานีสุขภาพในชุมชน (MEDICATION REFILL) พร้อมจัดบริการพิเศษพบแพทย์และเภสัชกรทางไกล และจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง ถึงบ้าน


ทั้งนี้ โรงพยาบาลประโคนชัย ได้ทำการศึกษาในพื้นที่ รพ.สต.โคกย่าง พบว่า ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีความพึงพอใจต่อการเข้าถึงบริการที่ง่าย สะดวก และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลจาก 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมโรคได้ดีขึ้น โดยกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้เพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 75% ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 40%