คุยกับลูกเรื่องเพศ…ยังไงดี

www.medi.co.th

                                                                     

การพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่ควรมองข้าม เพราะการที่พ่อแม่ได้คุยเรื่องเพศกับลูกจะสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงปัญหาเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่นได้ 


                แคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ของ สสส.จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะไปช่วยตอบโจทย์ ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะโอกาสทางการศึกษา การใช้ชีวิตตามช่วงวัย  การเลือกอาชีพการงาน ความเสี่ยงในการใช้สารเสพติด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอีกหลายอย่างนอกเหนือจากเรื่องเพศตามมาอีกด้วย


                นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  เปิดประเด็นในวงเสวนาวันเปิดแคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” เมื่อเดือนแห่งความรักที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจว่า…


                สสส.พยายามขับเคลื่อนสุขภาวะทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างการตระหนักรู้และเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผ่านโครงการและแคมเปญอย่างหลากหลายตามสถานการณ์ บริบทของสังคมและกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยตอบโจทย์ ลดปัญหาการท้องไม่พร้อม ซึ่งจะมีเรื่องตามมาอีกหลายมิติในการใช้ชีวิตในอนาคต เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


                “…การพูดเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นเรื่องที่พูดยาก ไม่คุ้นชิน เพราะเราถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย และหยาบคาย จนกลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด จึงเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเปิดใจ สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ พร้อมที่จะสื่อสารโดยไม่ตัดสิน ฟังอย่างเข้าใจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา”… นายชาติวุฒิ กล่าว

ตามด้วยข้อมูลตัวเลขเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในปี 2564 อยู่ที่ 4.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน อีกทั้งปัญหาติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิส ในปี 2564 มีอัตราป่วยในเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 50.5 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี 100,000คน สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2560


                สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอที่ค่อนข้างต่ำ การทำแคมเปญนี้ก็ถือเป็นความท้าทายของ สสส. เช่นกัน หรืออย่างการไปเจอถุงยางและยาคุมในกระเป๋าลูก หรือแม้แต่เพื่อนลูกชวนไปค้างคืนที่อื่น เหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองส่วนใหญ่คงยากที่จะทำใจรับได้


                ดังนั้นบทบาท สสส.เราทำงาน ‘สร้าง นำ ซ่อม’ เราสร้างเสริมเพื่อให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ให้มีทัศนคติที่เปิดใจในการสื่อสารเรื่องเพศกับลูก รวมทั้งงานวิชาการต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพื้นฐานให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เปิดรับทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับเพศ เข้าใจมากขึ้น


                 นายเกียรติคุณ ศิริเวชมงคลชัย นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมชำนาญการพิเศษ สสส. มองว่าอยากให้พ่อแม่มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก และความพร้อม ซึ่งเมื่อมีความพร้อมก็จะมีความมั่นใจตามมาเอง ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถแบ่งได้ 6 ข้อหลัก คือ


                • รับฟังไม่ตัดสิน ฟังเพื่อเข้าใจความรู้สึกความคิดของลูกโดยไม่ตัดสินเพื่อให้ลูกอยากคุยมากขึ้น


                • สอน…ผ่านการตั้งคำถาม นำไปสู่วิธีคิดของลูก ฝึกการตัดสินใจและทักษะต่าง ๆ ให้กับลูก ซึ่งลูกจะยอมรับได้มากกว่า


                • ชื่นชมความคิดที่ดี ทำให้ลูกมีกำลังใจ ดูแลตัวเองต่อไป


                • เสริมข้อมูลที่มีประโยชน์ เพิ่มความรู้และประสบการณ์เพื่อเป็นต้นทุนในการคิดและตัดสินใจของลูก


                • เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก เคารพการตัดสินใจของลูก เพื่อให้ลูกนับถือตัวเองได้มากขึ้น และเป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา เมื่อลูกพบอุปสรรค ลูกควรรู้ว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งได้เสมอ”

ขณะที่ นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว เล่าว่า…มีลูกชาย 2 คน คนโตวัย 11 ขวบ คนเล็กอายุ 8 ปี  ใช้วิธีการเล่าเรื่องของตนเองตอนเป็นวัยรุ่นให้ลูกฟังก่อน เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ และค่อยโยงเข้าบทพูดคุยกับลูก เช่น การใช้ชีวิตในโรงเรียนเป็นอย่างไร เพื่อนเป็นอย่างไร ชอบผู้หญิงลักษณะแบบไหน โดยสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองที่สุด เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกอึดอัด สบายใจ และสุดท้ายเขาจะไว้ใจเรา


                นายดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์  เล่าจากการทำงานลงพื้นที่ในโรงเรียน หนึ่งในกิจกรรมให้พ่อแม่เลือกรูปภาพมองตัวเองส่วนใหญ่เป็นตู้เอทีเอ็ม แต่ลูกมองพ่อแม่เป็นรูปเหมือนระเบิด ดังนั้น การคุยกับลูกเรื่องเพศ สิ่งแรกพ่อแม่ต้องเปิดใจมีทัศคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศก่อน และรับฟังอย่างตั้งใจ มีสติ ไม่ด่วนตัดสิน พูดคุยเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้  ฝึกทักษะการสื่อสารจะช่วยเป็นต้นทุนสำคัญให้คุยเรื่องเพศกับลูกได้ง่ายขึ้น


                สสส. และภาคีเครือข่าย ยังคงสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานสร้างนำซ่อม สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศให้ประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ผลักดันให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พูดคุยได้ในสังคม เพื่อลดโอกาสพลาด