โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯ พระเจ้าอยู่หัว ช่วยผู้สูงอายุมีฟันบดเคี้ยวอาหาร

www.medi.co.th

กรมอนามัย สปสช. และมูลนิธิทันตนวัตกรรม ผนึกกำลังโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา มุ่งเน้นคืนความสุขผู้สูงอายุมีฟันบดเคี้ยวอาหาร สุขภาพกาย-สุขภาพจิตแข็งแรง


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และพบปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศของกรมอนามัยในปี 2560 พบผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่/คน และเมื่ออายุ 80-85 ปีลดลงเหลือเพียง 10 ซี่/คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากถึง 8.7%


นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย คุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งในผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากปัญหาสุขภาพในช่องปาก และนอกจากการเกิดโรคแล้ว ปัญหาสุขภาพช่องปากยังส่งผลต่อในเรื่องการใช้งาน เช่น การกินอาหาร การพูด การทำความสะอาดฟัน หรือเรื่องอารมณ์ เช่น การยิ้มให้ผู้อื่น เมื่อสูญเสียฟันก็จะเกิดความไม่มั่นใจหรือไม่กล้าออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คน และบางรายยังมีผลในเรื่องของการนอนหลับที่มีคุณภาพอีกด้วย


นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุคือโครงการฟันเทียมพระราชทาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการใส่ฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนออกไป ทำให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ฟันในการบดเคี้ยว ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันยังมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุ สามารถกินอาหารได้ดีขึ้น มีพลังในการยิ้ม การเข้าสังคม การพูดจาชัดเจนดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนของรากฟันเทียม ในโครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 นั้น เป็นการต่อยอดจากการใส่ฟันเทียม เนื่องจากพบว่าสูงอายุที่ใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ประมาณ 10% ที่ร่องเหงือกเริ่มหดร่น จนฟันปลอมหลวมและเคี้ยวอาหารไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำนวัตกรรมรากฟันเทียมมาใช้ฝังในกระดูกกราม ซึ่งจะช่วยให้ยึดฟันเทียมได้แน่นมากขึ้น โดย สปสช. ได้บรรจุรากฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในเบื้องต้นจะให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องใช้ฟันเทียมทั้งปากแต่เหงือกร่นจนไม่สามารถใช้ฟันเทียมได้ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ลำบากที่สุด


นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า โครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จะมีการรณรงค์ไปอีก 2 ปี ซึ่งคาดว่าด้วยกลไกการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ จะทำให้ผู้มีสิทธิ หรือบุตรหลานของผู้มีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและทำให้มีผู้สูงอายุเข้ารับการฝังรากฟันเทียมจำนวนมากขึ้น และเมื่อเคลียร์ความต้องการรากฟันเทียมในระยะ 2 ปีนี้แล้ว เชื่อว่าหลังจากจบโครงการแล้ว ความต้องการรากฟันเทียมและกำลังทันตแพทย์ที่สามารถให้บริการได้ก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุล


“ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการบดเคี้ยว สามารถติดต่อไปยังหน่วยบริการที่มีทันตแพทย์ใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษา หากทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมก็จะดำเนินการฝังรากฟันให้ หรือถ้าหน่วยบริการนั้นทำไม่ได้ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่สามารถทำได้ โดย สปสช. จะสนับสนุนในการจัดซื้อรากฟันเทียมนี้ให้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาล”นพ.จเด็จ กล่าว

ขณะที่ ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 มีจุดเริ่มต้นจากในอดีตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในปี 2546 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟันนั้น กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข ใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” แลในขณะนั้นผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่สูญเสียฟัน แต่ว่าการใส่ฟันทั้งปากต้องเป็นทันตกรรมเฉพาะทาง วิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากเพราะในขณะนั้นมีแต่เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ จึงเป็นที่มาของโครงการฟันเทียมพระราชทานขึ้น ให้ประชาชนทุกสิทธิสามารถทำรากฟันเทียมได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2548-2565 มีผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากได้ประมาณ 7.2 แสนคน


ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นครองราชย์ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพื่อเป็นการสนองพระราชโองการ มูลนิธิทันตนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ขึ้นมาเพื่อสนองพระราชโองการ โดยฟันเทียมและรากฟันเทียมในโครงการนี้ ก็เป็นรากฟันเทียมที่มูลนิธิทันตนวัตกรรมพัฒนาคุณภาพต่อยอดจากของเดิมให้ยึดติดกับกระดูกได้ดีขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น


“อาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้คนเรามีสุขภาพดี และ สารอาหารที่ครบบริบูรณ์จะต้องเข้าสู่ร่างกายผ่านการบดเคี้ยว แต่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยว ทำให้ต้องทานเฉพาะพวกอาหารนิ่มๆ มีแต่แป้ง ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้น การใส่ฟันเทียมจึงมีความจำเป็นสำหรับบดเคี้ยวอาหาร”ศ.พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา กล่าว