กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรณีข่าวแมลงออกจากผิวหนัง ชี้อาจเป็นโรคหลงผิดคิดว่ามีพยาธิหรือแมลงในผิวหนัง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรณีข่าวแมลงออกจากผิวหนัง ชี้อาจเป็นโรคหลงผิดคิดว่ามีพยาธิหรือแมลงในผิวหนัง ส่วนโรคที่พบหนอนหรือพยาธิไชผิวจริงมี 3 โรค ได้แก่ 1. โรคพยาธิไชผิว 2. พยาธิหอยคัน 3. หนอนไชแผลที่ผิวหนัง การวินิจฉัยแยกโรคต้องมีการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ผิวหนัง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคประหลาด มีตัวคล้ายหนอนโผล่ออกมาจากผิวหนัง ตัวดำๆ ใสๆ มีอาการคัน เจ็บ โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา และลำตัว ต้องอาบน้ำร้อนเพื่อให้หนอนออกมาจากผิว กรณีนี้ขอเรียนว่า ผู้ป่วยอาจเป็นโรคหลงผิดคิดว่ามีพยาธิหรือแมลงในผิวหนัง (Delusions of parasitosis) เป็นโรคที่มีผื่นผิวหนัง ที่เกิดจากสาเหตุทางจิต โดยผู้ป่วยมีความเชื่อผิดๆ ฝังใจว่ามีพยาธิหรือแมลงอยู่ในผิวหนัง ผู้ป่วยมักดูมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นปกติ มีแต่ความเชื่อผิดๆ มักมาพบแพทย์หลายครั้ง ให้ประวัติว่ามีแมลงฝังตัวในผิวหนัง หรือมีแมลงไชออกจากผิวหนัง หรืออ้างว่ามีอาการคันยุบยิบเนื่องจากมีพยาธิไชผิวหนัง ลักษณะทางผิวหนังของผู้ป่วยมักพบรอยแกะเกาบนผิวหนังที่ผู้ป่วยเอื้อมมือถึง บางรายอาจแกะเการุนแรงจนกลายเป็นแผลลึก ผู้ป่วยอาจพยายามดึงตัวแมลงออกจากผิวหนังให้แพทย์ดู บางรายแกะแมลงออกจากผิวหนังเก็บรวบรวมใส่ถุงมาให้แพทย์ดู ซึ่งวัตถุเหล่านี้ที่ผู้ป่วยแกะรวบรวมมา มักเป็นแค่สะเก็ดหนังกำพร้า เส้นขนอ่อน หรือแมลงที่พบในบ้านที่ไม่เกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย แนะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่พบหนอนหรือพยาธิไชผิวจริง มี 3 โรค ได้แก่ 1. โรคพยาธิไชผิว เกิดจากคนเดินเท้าเปล่าบนพื้นดินซึ่งมีพยาธิจากมูลสุนัข หรือพยาธิที่อยู่ในดินไชเข้าไปในผิวหนัง เกิดผื่นคันซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ตามการไชของพยาธิในผิวหนัง 2. พยาธิหอยคัน เกิดจากคนลงเข้าไปแช่น้ำที่ท่วมขังในท้องนา ในน้ำมีพยาธิที่ออกมาจากหอยน้ำจืดมาไชผิวหนัง เกิดอาการตุ่มคันได้ 3. หนอนไชแผลที่ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันพบน้อยมาก ซึ่งเกิดจากคนที่เป็นแผลลึกเกิดที่ผิวหนังแล้วไม่ได้รักษาความสะอาดของแผล ทำให้แมลงวันมาวางไข่แล้วเกิดเป็นตัวหนอนไชในผิวหนัง มีอาการชัดเจน คือ แผลสกปรก มีกลิ่นเหม็น ทำให้เห็นตัวหนอนไชในผิวหนังได้
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในประเทศไทยพบอัตราการเป็นโรคพยาธิปากขอสูงในแมวและสุนัข จึงมีโอกาสที่พยาธิปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้พยาธิไชเข้าร่างกาย จะต้องสวมรองเท้าเวลาเดินเสมอ และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือสัมผัสบนดิน ทราย ที่อาจมีการปนเปื้อนมูลสัตว์ และควรถ่ายพยาธิให้แมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำไปพบแพทย์ผิวหนัง