รพ.ชัยนาทนเรนทร จัดบริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ APD เพื่อผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทอง

www.medi.co.th

สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลชัยนาท ย้ำเป็นนโยบายสำคัญที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการใช้เครื่อง APD ให้แพร่หลายมากขึ้น


        ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์  และคณะ ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท เยี่ยมชมโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องล้างไตเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาโดยวิธี APD

ทพ.อรรถพร เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องเข้ารับการรักษาบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพจะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1. การล้างไตทางเส้นเลือดหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้องแบบที่ผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน และการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) และ 3. การปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่จำนวนไตที่สามารถนำมาปลูกถ่ายได้มีน้อยผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงได้รับการบำบัดทดแทนไตใน 2 วิธี คือ การฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง


        ทพ.อรรถพร กล่าวว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่อง (APD) เป็นทางเลือกล่าสุดที่ สปสช. ได้เพิ่มเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ โดยมีหลักการทำงานแบบเดียวกันกับการล้างไตทางหน้าท้องเพียงแต่เปลี่ยนมาใช้เครื่องอัตโนมัติใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเปิดให้เครื่องล้างไตทำงานแล้วนอนหลับได้เลย วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องไปทำกิจกรรมนอกบ้านและไม่สะดวกกับวิธีการล้างไตด้วยตนเอง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องออกไปเรียนหรือออกไปทำงาน เป็นต้น


        “วิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นสามารถ มีชีวิตประจำวันกลับมาเป็นปกติเกือบเหมือนคนทั่วไป จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อน  และผลักดันให้มีการนำเครื่อง APD ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นให้เข้าถึงบริการยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ใช้เครื่อง APD ประมาณ 2,500 ราย และผู้ป่วยรายใหม่ที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นเฉลี่ย  170-200 รายต่อเดือน” ทพ.อรรถพรกล่าว

ด้าน พญ.อังคณา อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตจำนวน 94 ราย ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 28 ราย ล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง 66 ราย ส่วนการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD มีการจัดบริการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 ขณะนี้มีผู้ป่วยใช้เครื่อง APD จำนวน 12 รายและยังไม่พบปัญหาอาการติดเชื้อใดๆ 


        พญ.กิตติยา แช่มอุบล อายุรแพทย์โรคไต รพ.ชัยนาทนเรนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดบริการสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับบริการล้างไตผ่านทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD ระบบบริการที่โรงพยาบาลได้วางแนวทางไว้ ซึ่งนอกจากจะมีอายุรแพทย์โรคไต อายุรแพทย์ทั่วไป และพยาบาลเฉพาะทางการบำบัดทดแทนไตคอยดูแลผู้ป่วยในภาพรวมแล้ว ยังมีบริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงโดย PD nurse หรือพยาบาลเฉพาะทางด้านการดูแลผู้ปุวยล้างไต ทางช่องท้อง ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ กลุ่ม APD โดยทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมให้คำปรึกษามีการจัดโครงการโรคไตเรื้อรัง (CKD) และโครงการ CAPD สัญจร เพื่อประเมินติดตามการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลในชุมชนการเยี่ยมบ้านการกำจัดถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้ว เป็นต้น


        จากนั้นลงเยี่ยมบ้าน นางอัมพร ชื่นจิตร์ อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต
โดยการล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง CAPD ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ต่อมาผู้ป่วยและญาติสนใจทำการล้างไตด้วยเครื่อง APD จึงสมัครเข้ารับบริการ โดยได้เตรียมความพร้อมในการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD จากหน่วยงานล้างไตทางหน้าท้องโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรร่วมกับโรงพยาบาลสรรพ-ยา ผ่านการประเมินคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อทำการล้างไตด้วยเครื่อง APD เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 และเริ่มทำการล้างไตด้วยเครื่อง APD ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมาระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน 9 เดือนยังไม่พบปัญหาการติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้อง และแผลช่องสายออก ทำให้สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันและร่วมกิจกรรมทางสังคมได้


        “ตั้งแต่ใช้เครื่อง APD มาชีวิตก็มีความสุข ความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงมีผลการล้างไตที่ดีเพราะก่อนหน้านี้ล้างไตด้วยตนเองมีอาการน้ำหนักลดจนซูบผอม แต่เมื่อใช้เครื่อง APD แล้วอาการก็ดีขึ้น ผิวพรรณสดใส และน้ำหนักตัวเพิ่มมา 20 กว่ากิโลกรัม แถมยังมีวิธีใช้ไม่ยุ่งยาก เวลาจะไปเที่ยวก็สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องได้สะดวก ที่สำคัญเจ้าหน้าที่มีการให้บริการอย่างดีและมักจะพูดคุยให้กำลังใจเสมอ” นางอัมพร กล่าว