นบรรดาประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น เช่นประเทศไทย มักหนีไม่พ้นปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศเริ่มมีฝนโปรยปราย การถูกกัดโดยยุงที่เป็นพาหะของโรคติดเชื้อไข้เลือดออกอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยถึงขั้นวิกฤติ
อาจารย์ แพทย์หญิงโรจนี เลิศบุญเหรียญ อาจารย์กุมารแพทย์ประจำสาขาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้หอผู้ป่วยเวชบำบัดวิกฤตเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มมีผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนมีอาการของโรคติดเชื้อไข้เลือดออกรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องมาจากโดยตามธรรมชาติของการระบาดของโรคดังกล่าว มักพบมากขึ้นในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และอาการจะเริ่มทรุดลงหลังไข้ลดประมาณ 3-5 วัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกที่รุนแรงได้มากกว่าเด็กปกติ เนื่องจากมีการอักเสบของร่างกายที่อาจจะรุนแรงกว่าเด็กปกติ และสังเกตอาการได้ยากกว่า อีกทั้งยังพบอีกว่าในการเจาะเลือดเพื่อตรวจ หรือให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำในช่วงวิกฤติ เช่น การให้น้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสมและยาทางหลอดเลือดดำ ทำได้ยากกว่าเด็กปกติ จำเป็นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
f
โดยปกติในการให้การรักษาผู้ป่วยเด็กที่พบเชื้อไข้เลือดออกที่มีร่างกายแข็งแรง กุมารแพทย์จะให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ น้ำเกลือแร่ลดอาการขาดน้ำ และให้ผู้ปกครองดูอาการที่บ้านก่อนในช่วงแรก แล้วจึงค่อยนัดมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจ ว่าจะมีโอกาสเกิดเลือดออก หรือภาวะช็อก หรือไม่อีกครั้งในวันที่ไข้นานเกิน 3-5 วัน หรือถ้าหลังไข้ลด ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย กินไม่ได้ ปัสสาวะออกน้อย หรือมีอาการเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
แต่หากมีอาการทรุดลง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมกุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมรับมือแก้ไขสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมาได้พยายามผลิตนวัตกรรมใหม่ในการตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกมารองรับ อาทิ วิธีตรวจจากปัสสาวะเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเด็กรายที่มีข้อจำกัดในการเจาะเลือด
ในขณะที่ ความหวังที่จะได้เห็นคนไทยผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้เองกำลังเข้าใกล้ความจริง หลังจากที่ผ่านมาไม่นานนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศความสำเร็จจากการคิดค้นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกัน เพื่อให้สามารถฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันได้ยาวนานถึง 5 ปี โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตให้สามารถใช้จริงได้อย่างปลอดภัยได้ต่อไปนั้น
อาจารย์ แพทย์หญิงโรจนี เลิศบุญเหรียญ กล่าวว่า ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องช่วงอายุของกลุ่มเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลักดันสู่นโยบายที่จะกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับคนไทยต่อไปในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าช่วงอายุการระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่ได้อยู่ที่วัยเด็กเช่นที่ผ่านมา แต่เริ่มพบในผู้ป่วยในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมากขึ้น
“อย่างไรก็ดี การกำจัดต้นตอของปัญหาด้วยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดเนื่องจากเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกยังคงเป็นเรื่องจำเป็น และที่สำคัญที่สุดควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็ก ควรระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกินจนอยู่ในภาวะอ้วน จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะรุนแรงเมื่อต้องติดเชื้อไข้เลือดออก” อาจารย์ แพทย์หญิงโรจนี เลิศบุญเหรียญ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210