ม.มหิดลร่วมพัฒนา AI เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

www.medi.co.th

ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวทุกครั้ง ถือเป็นหน้าที่ของผู้เดินทางทุกคนที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับประเทศปลายทางในแง่มุมต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเดินทางอย่างถี่ถ้วน ซึ่งรวมถึงการเตรียมตัวด้านสุขภาพ ตลอดจนการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจต้องเผชิญ ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ใน "เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว" (Travel Medicine)


เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ "Thai Travel Clinic"คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ AI ในเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว    


โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ "เวชศาสตร์ ซึ่งเป็นวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และอยู่ใน Top 1% ของโลก ในฐานะผู้เขียนบทบรรณาธิการ หัวข้อ "Predicting the Natural History of Artificial Intelligence  in Travel Medicine"ร่วมกับ Professor Gerrard Flaherty, MD, PhD จาก University of Galway สาธารณรัฐไอร์แลนด์


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ได้กล่าวถึงบทบาทการใช้ AI ในเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน AI ได้มีการพัฒนาศักยภาพไปจนถึงความสามารถในการแชร์และตรวจจับข่าวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำต่างๆ ทั่วโลก   


สำหรับ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังโรคที่สัมพันธ์กับการเดินทางและท่องเที่ยว กับเครือข่าย "GeoSentinel Surveillance Network"ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวระดับโลก รวมมีสมาชิกเป็นสถาบันทางการแพทย์กว่า 70 แห่งจากทั่วโลก


โดยโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.. 2550 หรือมากกว่า 15 ปี ซึ่งเครือข่ายนี้สามารถตรวจจับการระบาดของโรคต่างๆ และมีผลงานวิชาการตีพิมพ์มากกว่า 100 เรื่อง   


ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทาง รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วัชรพงศ์ ปิยะภาณี ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทำให้โรคติดเชื้อจากมุมใดมุมหนึ่งของโลก สามารถแพร่กระจายไปในที่ต่างๆ ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เฝ้าระวังทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติผ่านเครือข่ายต่าง


นอกจากนี้ Social media รวมถึงสื่อต่างๆ ทาง internet มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสามารถทำให้ความรู้และคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัว และช่วยเฝ้าระวังภัย หรือโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว


อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวต้องพิจารณาให้ดีก่อนใช้ หรือเชื่อข้อมูลต่างๆ เพราะต้องแยกระหว่าง "ข่าวจริง" "ข่าวลวง" หรือ "ข่าวลือ" ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันวิชาการหลายแห่งใช้ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลดังกล่าว เช่นในโครงการ Healthmap.org   


ในส่วนของประเทศไทยเอง "Thai Travel Clinic"หรือคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการเป็นสถาบันหลักในการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของโลกที่ผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขา Travel Medicine ในระดับ Board Certify


เชื่อมั่นได้จากการเป็น "ต้นแบบ" (role model)ผลิตแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก American Society for Tropical Medicine and Hygiene สหรัฐอเมริกา จนปัจจุบัน "Thai Travel Clinic" ได้รับการยกย่องถึงความเป็นเลิศในการฝึกปฏิบัติด้านดังกล่าวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต


 


นอกจากนี้ "Thai Travel Clinic"ยังได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (Master of Clinical Medicine) จากต่างประเทศ และได้ส่งนักศึกษาไทยไปเรียนรู้โรคเขตร้อนในต่างแดน 


.มหิดลร่วมพัฒนา AI เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วศิน แมตสี่ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ "Thai Travel Clinic" คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน "Thai Travel Clinic" ยังได้ทำงานวิจัยร่วมกับ GeoSentinel Surveillance Network ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกมากมายหลายเรื่อง


ที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงต้องอาศัยฐานข้อมูลวิจัยด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวจากยุโรปเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าหากเราสามารถสร้างฐานข้อมูลขึ้นเองสำหรับคนไทยและเอเชียเพื่อการเฝ้าระวังและรักษาที่ตรงจุด   


ในปัจจุบัน "Thai Travel Clinic" ได้มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์เพื่อคงความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขยายบริการสู่ออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบทางไกล (Telemedicine) จ่ายยาทางไปรษณีย์ และนัดฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องพบแพทย์ซ้ำ พร้อมชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้ารับบริการ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง


โดยวัคซีนที่เปิดให้บริการตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว มีทั้งเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อเขตร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป อาทิ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ JE โรคตับอักเสบชนิดเอและบี โรคไข้กาฬหลังแอ่น ฯลฯ และโรคติดเชื้อเขตร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทาง โดยต้องแสดงหนังสือเดินทางประกอบ อาทิ โรคไข้เหลือง เป็นต้น ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2306-9145 และ Facebook :  Thai Travel Clinic


 


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210