เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th ข้อมูลจาก งานประกาศเกียรติคุณ สถานประกอบการปลอดบุหรี่ : รวมพลังสถานประกอบการ ต้านบุหรี่ไฟฟ้า&nbs
ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่เป็นจำนวนไม่น้อย ที่อาจยังไม่รับรู้ว่าในควันบุหรี่ที่สูบเข้าไปนั้น เต็มไปด้วยสารอันตรายที่ทำให้เกิดโทษต่าง ๆ ได้แก่ นิโคติน ซึ่งจัดเป็นสารเสพติด และยังมีสารเคมีอีกมากถึง 7,000 ชนิด สารพิษอีกมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งอีกมากกว่า 70 ชนิด ซึ่งได้ข้อสรุปอย่างง่าย คือ การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลงถึง 7 นาที
เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปแล้ว จะส่งผลทำลายร่างกายแทบทุกส่วน เริ่มตั้งแต่หลอดเลือดสมอง ทางเดินอาหาร หัวใจ กระดูกและกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินปัสสาวะ รวมถึงเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีความเสี่ยงแท้งของหญิงตั้งครรภ์ และมีโอกาสตาบอดถาวร
แม้ว่า ภาพรวมการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมีประชากรกลุ่มวัยทำงานสูบบุหรี่หนักถึง 21% ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องมาจากการอยากรู้อยากลอง โดนเพื่อนชักชวน หรือ มีภาวะความเครียดจากงาน ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม
สอดคล้องกับรายงานขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบว่า ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด และในจำนวนนี้ มีคนเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน ซึ่งควันบุหรี่มือสองที่ได้รับล้วนมาจากสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย โดยเฉพาะตลาดสด/ตลาดนัด ร้านอาหาร และขนส่ง นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า มีการสูบบุหรี่ในบ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 สสส. ได้ร่วมสนับสนุนสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ สานพลังส่งเสริมให้สถานประกอบการ มากกว่า 4,000 แห่ง ปลอดบุหรี่ สามารถคุ้มครองสุขภาพของพนักงานจากควันบุหรี่ ทำให้กลุ่มวัยทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง และสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่ผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างชัดเจน
จึงเป็นที่มาของ งานประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการปลอดบุหรี่ จำนวน 73 แห่ง แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 15 แห่ง ระดับก้าวหน้า 23 แห่ง และระดับพื้นฐาน 35 แห่ง ภายใต้แนวคิด : รวมพลังสถานประกอบการ ต้านบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 ณ โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต โดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สสส. ดำเนินการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เชิงสถานการณ์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของแรงงานในสถานประกอบการ รวมทั้งองค์ความรู้อื่น ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และตื่นตัวของสถานประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการสร้างเสริมสุขภาพแรงงาน
โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาและขั้นตอนการดำเนินงานควบคุมยาสูบของแรงงานในสถานประกอบการ ดังนี้
- จัดและควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดบุหรี่ โดยจัดแบ่งพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ และเขตพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่
- ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องพิษภัยของบุหรี่ทุกชนิดแก่พนักงาน
- ดำเนินงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ให้กับครอบครัว/ชุมชนรอบ ๆ โรงงาน เช่น การให้ความรู้กับลูก/หลานของพนักงาน และ
- สนับสนุนการเลิกบุหรี่ของพนักงาน โดยการส่งต่อโรงพยาบาลในพื้นที่ คลินิก NCDs และสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600
นอกจากนี้ น.ส.รุ่งอรุณ เล่าต่อว่า ผลลัพธ์จากการร่วมกันขับเคลื่อนงานระหว่าง สสส. และภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการช่วยบำบัดรักษาการติดบุหรี่ รวมถึงการผลักดันนโยบายสนับสนุนระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ และมีบริการทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้ที่ต้องการบำบัดเลิกบุหรี่ ทั้งรูปแบบของการใช้ยาและไม่ใช้ยา ในการช่วยเลิกบุหรี่ อาทิ
รูปแบบของการใช้ยา ด้วยการสนับสนุนเครือข่ายวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด หน่วยบริการในการช่วยเลิกบุหรี่ อย่างคลินิกฟ้าใส คลินิกทันตกรรมช่วยเลิกบุหรี่ เครือข่ายร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ บริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่แบบ one stop service
บริการแบบไม่ใช้ยา มีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า Quitline 1600 ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถโทรเข้ามารับบริการได้ฟรี การนวดกดจุดสะท้อนเท้าช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งผ่านการวิจัยแล้วว่า สามารถช่วยลดและเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ โดยทาง สสส. ได้ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศ ศึกษาวิจัยสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่
ที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ส่งเสริมบริการด้านสุขภาพพัฒนานวัตกรรมการช่วยเลิกบุหรี่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ให้ตอบโจทย์กับสังคมไร้ควันในปัจจุบัน
“…บุหรี่เลิกยาก แต่เลิกได้ แม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของเราและคนในครอบครัว อาจจะใช้วันที่ 31 พฤษภาคมปีนี้เป็นวันเริ่มต้นในการตัดสินใจเลิกบุหรี่ และ สสส. ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนที่อยากเลิกบุหรี่ เลิกได้สำเร็จ…” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวทิ้งท้าย
สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ เดินหน้าป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ด้วยการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ สร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ ไร้ควัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในสังคม
ใครก็ตาม ทุกครั้งที่คิดจะสูบบุหรี่ ให้นึกไว้เสมอว่า…สูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลงถึง 7 นาที