ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “ครั้งแรกของเอเชีย ศิริราชคิดค้นนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ ไฟโบรบลาสต์ เพื่อการรักษาริ้วรอยบนใบหน้า”ณ ห้องประชุมอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 26 รพ.ศิริราช โดยมี ศ. ดร. พญ.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา ศ. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา ผศ. ดร. นพ.พัฒนา เต็งอำนวย คณบดี วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการบริหาร บริษัท เซลแทค จำกัดพร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช รศ. นพ.สิทธิ์ สาธรสุเมธี รองคณบดีฝ่ายวิจัยเเละนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.มหิดล ร่วมเป็นสักขีพยาน
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลม.มหิดลกล่าวถึง วิสัยทัศน์ของ รพ.ศิริราช ในการสนับสนุนงานวิจัยของบุคลากร เพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย โดยเฉพาะเรื่องหัตถการความงาม ช่วยแก้ไขปัญหาความปลอดภัยที่อุบัติจากการฉีดสารเติมเต็มในปัจจุบัน ลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้น จะมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้รับการรักษา สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในวงกว้างก่อนการตรวจรักษา
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมานวัตกรรมการฉีดสารเติมเต็มถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก ประชาชนตัดสินใจเข้ารับบริการโดยอาจจะไม่ได้ศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติ จึงเกิดประเด็นเกี่ยวกับการทำหัตถการความงามว่าด้วยความไม่ปลอดภัย จากผลข้างเคียงที่รุนแรงและสำคัญ นั่นคือ การอุดตันของเส้นเลือดโดยตรง หรือการเพิ่มความดันรอบเส้นเลือดจนเกิดการอุดตัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้รับการรักษา เสียค่าใช้จ่ายในการนำสารเติมเต็มออกมา จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นำมาสู่การผลิตงานวิจัยชิ้นสำคัญที่จะเปลี่ยนวงการการรักษาริ้วรอย ผนวกกับการสร้างเทคโนโลยีที่มีคุณค่าด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของผู้รับบริการ”
ศ. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา กล่าวถึงการถึงนวัตกรรมการรักษาริ้วรอยว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศทั่วโลกคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความงามในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเติมเต็มริ้วรอย รูปหน้า และร่องลึก วิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการรักษาคือการใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ แต่ผลการรักษาอยู่ได้ไม่นานนัก ต้องฉีดเพิ่มบ่อยครั้ง และมีผลข้างเคียง เช่น ผู้รับบริการอาจเกิจอาการแพ้ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อฟิลเลอร์ ทำให้มีอาการเป็นก้อนนูนแดง อักเสบ ติดเชื้อ ต้องได้รับการฉีดสลาย ฟิลเลอร์ เพิ่มค่าใช้จ่ายทวีคูณ หรือกรณีร้ายแรงที่สุดอาจเกิดเนื้อตาย หรือตาบอด เนื่องจากฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันที่ เส้นเลือดโดยตรง ดังนั้น การคำนึงถึงความปลอดภัย จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการทำหัตถการด้านความงาม สู่แนวคิดวิจัยและพัฒนาฟิลเลอร์จากเซลล์ของผู้รับบริการเอง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง ลดอาการแพ้ ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย และลดโอกาสการฉีดสารเติมเต็มเข้าเส้นเลือดอีกด้วย
จากองค์ความรู้เดิมพบว่าเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอยคือ เซลล์ชั้นหนังแท้ หรือเรียกว่าเซลล์ชนิด เดอมอลไฟโบรบลาสต์ (Dermal Fibroblasts) เป็นเซลล์สำคัญในการผลิตคอลลาเจน ที่ช่วยพยุงโครงสร้างเซลล์ให้ผิวหนังแข็งแรง ริ้วรอยและความยืดหยุ่นที่น้อยลง ดังนั้น เซลล์ชนิดเดอมอลไฟโบรบลาสต์จึงมีความน่าสนใจในการศึกษาและน่าจะตอบโจทย์สามารถนำมาพัฒนา เพื่อโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์ในท้องตลาดทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ศ. ดร. พญ.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา กล่าวถึงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ ไฟโบรบลาสต์ว่าการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เซลล์รักษาโรคหรือแก้ไขความผิดปกติ เรียกว่าเป็นการรักษาด้วยเซลล์ หรือเซลล์บำบัด โดยเรามีทีมที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนัง ตั้งแต่แยกเซลล์เดอมอลไฟโบรบลาสต์จาก Tissue และการเลี้ยงเซลล์ โดยใช้อาหารเลี้ยงเซลล์ที่ได้มาตรฐานและสัดส่วนที่พอเหมาะ ทำให้ได้เซลล์ Dermal Fibroblasts ที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการผลิตคอลลาเจนและแก้ไขปัญหาของผู้รับบริการได้ตามเป้าหมาย โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์และจดอนุสิทธิบัตรเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าเซลล์ผิวหนังทั้งชนิดที่อยู่ที่ชั้นหนังกำพร้าและ Dermal Fibroblasts สามารถหลั่งสารชีวโมเลกุลที่ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ข้างเคียง ทำให้เซลล์ซ่อมแซมตัวเองได้ในระดับโมเลกุล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการสร้างคอลลาเจน และกลไกต่าง ๆ เช่น การยับยั้งภาวะอักเสบ ภาวะเครียดของเซลล์ เป็นต้น
จากผลการวิจัยในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าเซลล์ไฟโบรบลาสต์สามารถคงอยู่ในชั้นผิวหนังได้นานอย่างน้อย 1 ปี โดยที่ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม ผู้รับบริการจึงไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นบ่อยครั้ง นำมาสู่การรักษาทางคลินิก สำหรับผู้ที่สนใจต้องเก็บเซลล์บริเวณหลังหู ประมาณ 3-4 มิลลิเมตร จากนั้นส่งชิ้นเนื้อดังกล่าวเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ เพื่อเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์จนได้ปริมาณที่ต้องการ และจึงนำมาฉีดกลับเข้าไปยังบริเวณที่ผู้รับบริการมีปัญหา โดยฉีดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ภายหลังจากการฉีด ผู้รับบริการจะไม่เกิดอาการแพ้ ดังเช่นที่พบหลังการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่ฉีดนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำเกลือสีขาวขุ่น เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตันได้
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลม.มหิดล ได้ร่วมมือกับ บริษัท เซลแทค จำกัด เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้าง รวมถึงได้ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช ติดต่อสอบถามที่ 02 419 9933 หรือ 02 419 9922 เพื่อติดต่อขอรับคำปรึกษาและเข้าใช้บริการ