คณบดีคณะพยาบาล ม.มหิดลชี้ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ช่วยเติมเต็มระบบหลักประกันสุขภาพ

www.medi.co.th

คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ช่วยเติมเต็มระบบหลักประกันสุขภาพ ช่วยประชาชนรับการดูแลรักษาเบื้องต้น รวมถึงการดูแลต่อเนื่องที่บ้านโดยไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล แนะ สปสช. เพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มากขึ้น


        รศ.ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดำเนินงานของคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็น “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เกิดจากวิสัยทัศน์ของคณะฯ ที่ต้องการเป็นสถาบันชั้นนำระดับประเทศและนานาชาติ ตลอดจนเป็นแกนนำในการสร้างสุขภาวะแก่สังคม ขณะที่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ กทม. หรือเขตบางกอกน้อยที่คณะฯ ตั้งอยู่ หรือถึงมาได้ก็ต้องเจอความแออัดผู้ป่วยแน่นโรงพยาบาลไปหมด


        ด้วยเหตุนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมองว่าการมีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นและได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565 จนถึงปัจจุบันโดยมีเป้าหมายคือ 1.ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่บางกอกน้อยสามารถเข้ารับบริการที่มีคุณภาพในขอบเขตที่วิชาชีพพยาบาลสามารถให้ได้ 2. ทำให้คนที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้และไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น ทำแผล เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ การฟื้นฟูต่างๆ ในส่วนที่วิชาชีพพยาบาลทำได้ ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยที่ไม่ต้องไปแออัดถึงในโรงพยาบาล


        ขณะเดียวกัน การที่คณะฯ มีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ก็จะเป็นแหล่งฝึกให้กับนักศึกษาพยาบาลได้ เพราะในช่วงโควิด-19 ไม่สามารถพานักศึกษาไปฝึกปฏิบัติที่โรงพยาบาลได้เลย แต่เมื่อมีคลินิกฯแล้ว หากในอนาคตเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง หรือเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมา ก็ยังสามารถที่จะบริหารจัดการการเรียนการสอนได้


        สำหรับการจัดบริการนั้น รศ.ดร.ยาใจ กล่าวว่า คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของคณะฯ จะให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตที่วิชาชีพพยาบาลทำได้ การให้บริการพยาบาลเชิงรุกออกไปดูแลต่อเนื่องที่บ้านของประชาชนในพื้นที่ โดยได้ประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลใกล้เคียงในการรับดูต่อ เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก็สามารถรับบริการจากคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นได้เลย ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ


        “ส่วนประชาชนที่มารับบริการที่คลินิกมากที่สุดคือการดูแลแผล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในแง่ที่ประชาชนสามารถได้รับบริการโดยที่ไม่ต้องมาอัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันรวม 6-7 เดือน เรามีการติดตามข้อมูลและพบว่าประชาชนในย่านบางกอกน้อยพึงพอใจกับการให้บริการโดยเฉพาะการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน” รศ.ดร.ยาใจ กล่าว


        รศ.ดร.ยาใจ กล่าวต่อไปว่า การมีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเข้ามาเติมเต็มระบบบริการ อย่างเช่นในพื้นที่ กทม. จะพบว่าผู้สูงวัยหรือผู้มีปัญหาโรคเรื้อรังหลายๆ คนยังขาดคนดูแล และแม้จะมีสิทธิ์การรักษาที่รัฐบาลกำหนดให้ แต่คนเหล่านี้ก็มารับบริการที่โรงพยาบาลได้ยากลำบาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่เอง เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ก็มีกำลังคนไม่มาก คลินิกการพยาบาลฯ จะช่วยในเรื่องการให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะคณะพยาบาลศาสตร์มีอาจารย์กว่า 130 คน แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการพยาบาลกุมารเวช ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ ผู้สูงอายุ สุขภาพจิต ผดุงครรภ์ หรือสุขภาพสตรี นอกจากให้บริการที่คลินิกแล้ว อาจารย์ของคณะฯ ยังออกไปให้บริการดูแลต่อเนื่องที่บ้านด้วย ทำให้เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น


        อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ก็ยังพบปัญหาในการดำเนินงาน เช่น ในแง่ของประชาชนยังไม่รู้จักคลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งก็ต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น และคิดว่าทาง สปสช. ควรช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือเครือข่ายของ สปสช. รับรู้ว่ามีคลินิกการพยาบาลฯตั้งอยู่ในพื้นที่ไหน จะสามารถเข้าไปรับบริการได้ที่ไหนได้บ้าง และนอกจากเรื่องการประชาสัมพันธ์แล้ว อยากให้ สปสช. พิจารณากรอบศักยภาพของคลินิกการพยาบาลตามขอบเขตวิชาชีพพยาบาล หรือตามความสามารถเฉพาะทางที่พยาบาลสามารถให้การบริการแก่ประชาชนได้ เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการประชาชนของคลินิกการพยาบาลเพิ่มขึ้น