ม.มหิดลพร้อมผลิตป.โท'พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน'ดูแลสุขภาพองค์รวมประชาชนทุกช่วงวัย

medi.co.th


ทิศทางสาธารณสุขของประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน นับตั้งแต่เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน ที่พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พุทธศักราช 2562 มีผลบังคับใช้ เพื่อลดความแออัดของระบบโรงพยาบาล ส่งผลให้มีการกระจายอำนาจการดูแลสุขภาพประชาชนไปยังชุมชน จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่บทบาทของ "พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน" ซึ่งเปรียบเหมือนเสาหลักของระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ทวีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย


รองศาสตราจารย์ ดร.ปาหนัน พิชญภิญโญ ประธานหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน และอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของหลักสูตรว่าเกิดขึ้นเมื่อ 76 ปีก่อน พร้อมกับการก่อตั้งของคณะฯ ซึ่งเปรียบเหมือนรากฐานของการศึกษาด้านการสาธารณสุขในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย


โดยในระยะแรกใช้ชื่อหลักสูตรเป็นชื่อเดียวกับชื่อภาควิชา แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน” และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในทุก 5 ปี จัดการเรียนการสอนตามทิศทางนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทย โดยในยุคแรกเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขอนามัย และสุขภาพทั่วไป มาถึงปัจจุบันได้มุ่งให้บริการสู่ระดับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลโรคเรื้อรัง และการดูแลสุขภาพองค์รวมสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัย


โดยทั่วไป “พยาบาลวิชาชีพ” (Licensed Nurse) เมื่อสำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน จากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลและขึ้นทะเบียนไว้ สามารถรักษาโรคเบื้องต้น หรือกลุ่มอาการ โดยมีข้อแตกต่างในทางปฏิบัติ ตามประกาศสภาการพยาบาล ตรงที่ “พยาบาลเวชปฏิบัติ” (Nurse Practitioners) สามารถรักษาโรค และใช้ยาได้ตามรายการและการวินิจฉัยสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป


หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรไทย เนื่องด้วยยังคงยืนยันเจตนารมณ์เพื่อการผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติชาวไทยที่มากด้วยคุณภาพ ออกไปรับใช้ชุมชนและประเทศชาติ โดยสามารถทำงานวิจัยที่ได้มาตรฐานนานาชาติ และกำหนดให้จัดทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทยก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชากรชาวไทย


และเชื่อมั่นได้ถึงคุณภาพของหลักสูตรซึ่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยอาเซียน AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) พร้อมด้วยคณาจารย์พยาบาลของหลักสูตรฯ ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกร้อยละ 100


และคณาจารย์ถึงร้อยละ 80 ของหลักสูตรฯ สำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา อาทิ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) มหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนา (University of North Carolina) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) มหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) และมหาวิทยาลัยคาธอลิกแห่งอเมริกา (The Catholic University of America) เป็นต้น


ที่ผ่านมาได้มีการเทียบเคียงมาตรฐานการศึกษาระหว่างหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยในเอเชีย พบว่าหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีมาตรฐานใกล้เคียง (benchmark) กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) ในสาขา Master of Science in Community Health Nursing


โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนทุนวิจัยและรางวัลต่างๆ จากผลงานของนักศึกษาในหลักสูตรฯ ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นักศึกษาของหลักสูตรฯ สามารถคว้าทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแนวทางให้คำปรึกษาทางโทรเวชสำหรับลดภาวะน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และการดูแลให้คำปรึกษาเพื่อลดภาวะอ่อนล้าในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด เป็นต้น


นับเป็นความโชคดีของนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับเงื่อนไขการศึกษาให้กระชับขึ้น เพื่อให้สามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2 ปี โดยได้จัดให้มีการศึกษาในชั้นเรียน (Coursework) เพียงปีแรกปีเดียว เพื่อให้ปีต่อไป จะได้ใช้เวลาในการทำวิทยานิพนธ์ได้อย่างเต็มที่ และจะได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงจากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ


มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมต้อนรับพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาพยาบาลในระดับปริญญาตรีจากทุกสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรฯ ขอเพียงมีความตั้งใจจริง และพร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยในเชิงรุก เพื่อทำให้นโยบายสาธารณสุขชาติ "ใกล้บ้านใกล้ใจ" สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210