กรุงเทพฯ –เพราะการเริ่มต้นสร้างองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพเยาวชนตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เดินหน้าความร่วมมือกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อสานต่อโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme (YHP) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ผ่านการให้ความรู้และพัฒนาแกนนำเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ถึงปัญหาสุขภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนร่วมรุ่นและเยาวชนรุ่นต่อไปเกี่ยวกับภัยของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
โครงการ Young Health Programme ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียมของแอสตร้าเซนเนก้า ที่เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินงานเพื่อสร้างเกราะความรู้ด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจ ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุ 10-24 ปีมาแล้วกว่าครึ่งทาง พร้อมผลการดำเนินงานด้วยการสื่อสารไปยังสมาชิกในชุมชนได้โดยตรง กว่า 78,000 คน รวมถึงผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมในสังคมอีกกว่า 4.8 ล้านคน
ตลอดระยะเวลาของโครงการ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมอบรมและพัฒนาแกนนำเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาได้เพิ่มพูนทักษะ พร้อมสานต่อหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและการป้องกันตัวเองจากปัญหาสุขภาพ อาทิ อันตรายของการดื่มสุรา สูบบุหรี่ การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การป้องกันสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ และการสร้างสภาวะทางอารมณ์ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ให้กับสมาชิกในครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชน โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางโครงการยังได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะแกนนำระดับอุดมศึกษาจำนวน 45 คนจาก 8 สถาบันเพื่อให้เป็น Young Health Influencer รวมถึงยังสร้างแกนนำนักเรียนได้อีกกว่า 170 คน
ล่าสุด เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก โครงการ Young Health Programme ยังได้จัดกิจกรรม “ไม่สูบ ไม่เสี่ยง”แก่นักเรียนจำนวนกว่า 90 คน ณ โรงเรียนมหาภาพกระจาดทองอุปถัมภ์ จังหวัด สมุทรปราการ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ พร้อมการอบรมเชิงปฏิบัติการ และเสริมความเข้าใจแก่เยาวชนถึงอันตรายของบุหรี่ที่กระทบสุขภาพต่อทั้งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่โดยอ้อม ซึ่งนักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ[1] และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงผลกระทบต่อระบบประสาท และการทำงานของอวัยวะในร่างกายที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
โครงการ Young Health Programme ในประเทศไทย มุ่งมั่นปลูกฝังและผลักดันให้เด็กและเยาวชน สร้างศักยภาพในการตัดสินใจด้านสุขภาพที่เหมาะสม ผ่านกิจกรรมสร้างเสริมความรู้ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การอบรมพัฒนาแกนนำเยาวชนสร้างเสริมสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การสร้างสรรค์แคมเปญประจำเดือนเพื่อให้ความรู้ในวันสำคัญทางสุขภาพ การอบรมมาตรฐานบริการที่เป็นมิตรต่อวัยรุ่นและเยาวชนแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไปจนถึงการจัดสัมมนาด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
[1] National Statistic Office of Thailand (2017). Thailand Statistic of people who smoke in 2017. Available here: http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/2561/N31-08-61-1.aspx