สธ. หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย-ออสเตรเลีย

www.medi.co.th


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย 5 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนานักบริหารกระทรวงสาธารณสุข, การบริหารจัดการโควิด 19, Digital Health, Therapeutic Goods Administration (TGA) และมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (29 มิถุนายน 2566) ได้นำคณะผู้บริหาร ประชุมหารือทวิภาคีความร่วมมือสาธารณสุขไทย-ออสเตรเลีย ที่ Department of Health and Aged Care กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย พร้อมมอบของที่ระลึกแก่ Professor Brendan Murphy, Secretary of the Department of Health and Aged Care เครือรัฐออสเตรเลีย เนื่องในโอกาสลาออกจากตำแหน่ง โดยจะมีผลวันที่ 6 กรกฎาคม นี้


นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การหารือทวิภาคีครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนประเด็นด้านสาธารณสุขและความร่วมมือต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนานักบริหารกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้นำคณะนักบริหารระดับสูงมาศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย เนื่องจากมีระบบสุขภาพที่น่าสนใจ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้,การบริหารจัดการโควิด 19 ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีการทำงานอย่างเข้มแข็ง และออสเตรเลียมีอัตราการเข้าถึงวัคซีนค่อนข้างสูง ขณะที่ไทยสามารถบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโควิค 19 ในระดับปฐมภูมิได้ดี จากการที่มีอสม. ช่วยสนับสนุนการให้บริการในพื้นที่ ทำให้ออสเตรเลียมีความสนใจและขอแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการคัดเลือก การอบรม และคุณสมบัติของ อสม.

ด้าน Digital Health ออสเตรเลียมีการนำ Digital health ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ และใช้ Telehealth ในช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีระบบ Personal Health Record ในการเก็บข้อมูลประชากร ขณะที่ไทยมีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาดูงานที่นครซิดนีย์ คณะนักบริหารระดับสูงได้เรียนรู้เรื่อง Hospital in the home (HiTH) ซึ่งเป็นประโยชน์มากและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้, ด้าน Therapeutic Goods Administration (TGA) ออสเตรเลียได้ร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยไทยมีความสนใจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยฟัง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในเด็กประมาณ 200 คนต่อปี


ส่วนมาตรการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ออสเตรเลียไม่ให้มีการซื้อขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นผู้ที่กำลังพยายามเลิกบุหรี่ และเฝ้าระวังไม่ให้แปรรูปนิโคตินในรูปแบบหมากฝรั่ง ซึ่งออสเตรเลียได้ชมเชยไทยที่ไม่ให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย และถึงแม้จะมีการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าประเทศ แต่ก็ยังสามารถควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ได้ดี