ม.มหิดลริเริ่มโครงการ'แนะแนว แนะใจ' มุ่งพัฒนา'ความฉลาดทางจิตวิญญาณ'ในเยาวชนไทย

www.medi.co.th

โลกใน "ยุคถือครองด้วยเทคโนโลยี" ผู้มี "ไอคิวสูง" อาจทำให้ได้เรียนสูง และยกระดับทางสังคม แต่ไม่สำคัญเท่า "SQ" ที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข


อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำให้โลกแห่งสันติสุขเปิดกว้างออกสู่การศึกษาในทุกระดับ ไม่เพียงแต่ในรั้วอุดมศึกษา


โดยได้ริเริ่มโครงการ "แนะแนว แนะใจ เดอะซีรีส์" อบรมครูแนะแนวระดับชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างๆ และบุคคลที่สนใจเกือบ 1,000 รายจากทั่วประเทศ เพื่อการเข้าถึง "การพัฒนาคุณภาพเชิงจิตวิญญาณ" ก่อนขยายผลสู่การเตรียมพร้อมเยาวชนไทยให้เป็น "ผู้นำและพลเมืองที่โลกต้องการ"


 


สำหรับเฟสแรกเป็นการจัดผ่านระบบออนไลน์ในช่วงปี พ.ศ. 2565 โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ "แนะแนว แนะใจ...เมื่อวัยรุ่น วุ่นรัก" "แนะแนว แนะใจ ทำอย่างไร เมื่อ...วัยรุ่นคิดสั้น" "แนะแนว แนะใจ เมื่อเด็กไม่ฟัง" "แนะแนว แนะใจ กับการบุลลี่" "แนะแนว แนะใจ ช่วยวัยรุ่นค้นหาตัวเอง" "แนะแนว แนะใจ ทำอย่างเมื่อเด็กไม่อยากมีศาสนา" "แนะแนว แนะใจ ทำอย่างไรให้เห็นคุณค่าในตัวเอง" และ "แนะแนว แนะใจ เมื่อทุกอย่างไม่เป็นดังใจ"


 


อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ มองว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนา "ความฉลาดทางสติปัญญา" (IQ-Intelligence Quotient) นั้นอาจยังไม่พอต่อการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนในโลกยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องเสริมด้วยทักษะแห่งการพัฒนา "ความฉลาดทางจิตวิญญาณ" (SQ-Spiritual Quotient) ดังนั้น จึงได้เตรียมการขยายผลโครงการ "แนะแนว แนะใจ เดอะซีรีส์" สู่เฟสสองต่อไปในปีหน้า พ.ศ. 2567 ในชื่อโครงการ “แนะครู สร้างใจ”


 


สำหรับวิธีการเข้าถึง "SQ" สามารถสร้างขึ้นด้วยกระบวนการ และวิธีการที่หลากหลาย  และเริ่มต้นง่ายๆ ผ่านการฝึกสติ ฝึกสมาธิ หรือจดบันทึกเพื่อการพิจารณาความคิด พร้อมสำรวจคุณค่าในตัวเอง เพื่อเปิดมุมมองต่อเพื่อนมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้สู่การยอมรับความแตกต่างกัน เพื่อการเรียนรู้สู่การยอมรับความแตกต่าง เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข


 


และหากผู้ใหญ่เริ่มเพียงสอนให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ อ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งเป้าหมายในชีวิตไปในทางที่สร้างสรรค์ และใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ก็จะทำให้เด็กสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งพัฒนา "SQ" ด้วยตัวเองได้ไม่ยาก


 


มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" สนับสนุนเด็กไทยให้ถึงพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติ และพร้อมก้าวสู่การเป็น "พลเมืองโลก" ที่มีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า


 


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


ภาพโดย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล