สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ป่วยในโครงการ "เก้าเลี้ยว โมเดล" (Kaoleaw Model) จากบทเรียนโควิด-19 สู่รูปธรรมระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการ ของพื้นที่อำเภอเก้าเลี้ยว โดยมีโรงพยาบาลเก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เป็นแกนกลาง ขับเคลื่อนโดยนายอำเภอเก้าเลี้ยว เชื่อมภาคส่วนต่างๆ ทำงานร่วมกัน เกิดเป็นกลไกหลัก “ทีม 5 กัลยาณมิตรพิชิตใจห่างไกลยาเสพติด” สปสช. เน้นผลักดันให้เกิดบริการต้นแบบ ขยายให้แพร่หลายในพื้นที่อื่นมากขึ้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อรับฟังและเยี่ยมชมโครงการ "เก้าเลี้ยว โมเดล" ระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการ และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในพื้นที่ โดยมีนางสาวธิติกมล สุขเย็น นายอำเภอเก้าเลี้ยว นพ.วศิน ทองทรงกฤษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเก้าเลี้ยวและคณะให้การต้อนรับและสรุปภาพรวมโครงการฯ
นายชยันต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนมากขึ้น และแสดงออกถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จังหวัดนครสวรรค์จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หลังจากได้มีการตรวจสอบสุขภาพจิตของประชาชนในนครสวรรค์พบว่า จำนวนประชากร 1 ล้านกว่าคนเป็นผู้มีปัญหาทางจิตราว 4 หมื่นราย ใน 4 หมื่นรายนี้มีผู้ป่วยที่ว่าถึงขั้นรุนแรงก็คือทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นเกือบ 1 พันราย และมีผู้ที่อาการหนักถึงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวชประมาณ 1 ร้อยกว่าราย
ทางอำเภอเก้าเลี้ยวจึงได้มีการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในรูปแบบที่เรียกว่า เก้าเลี้ยวโมเดล โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตั้งแต่นายอำเภอ ตำรวจ โรงพยาบาล-สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน กลายเป็น 5 กลุ่มที่เรียกว่า 5 กัลยาณมิตร เข้าไปคอยดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา กลับมาดูแลเรื่องการรับประทานยา การพักผ่อน การพูดคุย เพื่อช่วยเหลือทางด้านจิตใจของผู้ป่วย
ฉะนั้น การทำงานด้านจิตเวชหรือเก้าเลี้ยวโมเดลเป็นการทำงานของทุกภาคส่วน จึงต้องทำงานโดยมีระบบข้อมูลร่วมกัน ทางจังหวัดนครสวรรค์จึงได้มอบหมายให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดทำแอปพลิเคชันชื่อว่า นครสวรรค์สุขใจ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และมีการนำข้อมูลส่งต่อเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วยและติดตามผลของการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
นางสาวธิติกมล เปิดเผยว่า เก้าเลี้ยวโมเดล มีแนวคิดมาจากการถอดบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมีแรงจูงใจจากเหตุการณ์จริงในพื้นที่ จึงได้มีการพูดคุยวางแผนร่วมกัน นำไปสู่รูปธรรมการก่อตั้งระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการ
ทั้งนี้ เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลจำนวน 217 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่สามารถดำรงชีวิตร่วมกับชุมชนได้ 100% จำนวน 214 ราย รักษาตัวอยู่ในเรือนจำ 1 ราย และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทับกวาง จังหวัดสระบุรี 2 ราย อย่างไรก็ดี กลไกสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ทีม 5 กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นทีมปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เป็นคีย์แมนสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องของโครงการเก้าเลี้ยวโมเดล
“การแก้ไขปัญหาจิตเวชเรื้อรังไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานเดียว ต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากหน่วยราชการและภาคประชาชนในชุมชน” นางสาวธิติกมล กล่าว
นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า เรื่องจิตเวชจะเป็นนโยบายที่สำคัญในปี 2567 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำหนดว่าจะเป็นปีของจิตเวชครบวงจร ฉะนั้นก้าวเลี้ยวเป็นโมเดลหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดว่า จิตเวชครบวงจรสามารถเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่การรู้ปัญหาในพื้นที่ ค้นหาผู้ป่วย ดูแล ส่งต่อรักษา และกลับมาสู่ชุมชนได้
ดังนั้น สปสช. จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวชเรื้อรังมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีความซับซ้อนเกี่ยวพันกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือระดับที่เรียกว่า สีแดง คือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือเกือบปกติต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การที่ได้มาดูการทำงานของเก้าเลี้ยวโมเดล ต้องขอชื่นชมหน่วยงานทางฝ่ายปกครองฝ่ายกฎหมาย-ตำรวจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือกับทีมทางสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง รวมถึงทีม 5 กัลยาณมิตรในชุมชน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้การรักษาของทีมแพทย์เกิดผลสำเร็จ ตลอดจนการเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำหรือคอยตรวจตราเคสที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่
ทั้งนี้ สปสช.จะนำรูปแบบเก้าเลี้ยวโมเดลไปพิจารณาการปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการจิตเวชเรื้อรังให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานและวิถีชีวิตของผู้ป่วยต่อไป
“ปัญหาจิตเวชมีความสำคัญและในระยะต่อไปจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การดูแลและบูรณาการในชุมชนจะเป็นคำตอบหนึ่งที่เชื่อว่าจะขยายผลนำร่องไปสู่พื้นที่ต่างๆ จะเห็นว่าผู้ป่วยสามารถอยู่ในชุมชนได้ สามารถอยู่ใกล้โรงเรียนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีความกังวลว่า การมีผู้ป่วยอยู่ใกล้ๆ เขาจะมาก่อความรุนแรง หรือลูกหลานที่เรียนอยู่จะปลอดภัยหรือไม่ แต่วันนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีกลไกของชุมชนเข้ามาดูแลทุกอย่างก็จะเรียบร้อย” นพ.จเด็จ กล่าว