ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองตอบรับ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” เผย 8 เดือน มีผู้ป่วยรับการดูแลกว่า 3.3 แสนครั้ง สปสช. เตรียมจับมือ สภาเภสัชกรรม รุกดึงร้านยาเข้าสู่ระบบ ตั้งเป้าปี 2567 จำนวน 5,000 แห่ง เน้นกระจายครบทุกอำเภอ อย่างน้อยต้องมีอำเภอละ 1 แห่ง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้เดินหน้าบริการที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เพื่อดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยล่าสุดได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ดำเนินการในนโยบาย “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (Common Illnesses) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกรณีที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย โดยอาการเจ็บป่วยตามนโยบายนี้ สปสช. ได้ทำการหารือกับสภาเภสัชกรรมว่า ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมและความรู้ของเภสัชกร สามารถให้บริการรักษาเบื้องต้นอะไรได้บ้าง จึงออกมาเป็นหลักเกณฑ์บริการที่ครอบคลุมดูแล 16 กลุ่มอาการที่ปรากฏ
ทั้งนี้ ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนแล้ว มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมให้บริการ 1,090 แห่ง และมีประชาชนใช้สิทธิบัตรทองฯ เข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 มีประชาชนเข้ารับบริการโครงการฯ แล้ว 189,035 คน เป็นจำนวน 335,993 ครั้ง ในร้านยา 1,090 แห่ง โดยการเข้ารับบริการสุดสุด 5 อันดับแรก คือ อาการไข้ ไอ และเจ็บคอมากที่สุด จำนวน 134,638 ราย รองลงมาเป็นอาการปวดข้อ เจ็บกลามเนื้อ จำนวน 76,201 ราย อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 43,416 ราย อาการปวดท้อง จำนวน 32,038 ราย และอาการความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขั้นกับตา จำนวน 19,236 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากผลตอบรับด้วยดีของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองนี้ สปสช. เตรียมหารือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อเชิญชวนร้านยาทั่วประเทศที่มีจำนวน 17,000 แห่ง มาเข้าร่วมให้บริการนี้เพิ่มเติม โดยในปี 2567 ตั้งเป้าหมายให้มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 5,000 แห่ง และให้มีร้านยาที่ร่วมบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการอย่างน้อยกระจายอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เนื่องจากบางจังหวัดมีหลายอำเภอ จึงอยากให้มีบริการร้านยาที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในอนาคตก็ตั้งเป้าหมายให้ร้านยาทุกแห่งเข้ามาร่วมให้บริการนี้เพื่อร่วมดูแลประชาชนในระบบบัตรทองฯ
“เป้าหมายสำคัญของนโยบายร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาตามอาการเบื้องต้นได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก และไม่เสียเวลาก่อน ซึ่งในทางการแพทย์การเข้ารับการรักษาผู้ป่วยจะไม่ได้มาด้วยโรค แต่จะมาด้วยอาการ อาการบางอย่างที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หากได้ยาบรรเทาก็หายได้ เช่น เมื่อเกิดภาวะเครียด ทำให้ปวดหัว เมื่อได้กินยาและพักผ่อนก็ดีขึ้นและหายได้ ร้านยาที่มีกระจายทุกชุมชนจึงเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตามหากกินยาแล้วไม่หาย ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการแล้ว ร้านยายังได้ร่วมให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพ 6 รายการ ปีละ 1 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ การคัดกรองดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ หากต้องการเลิกบุหรี่จะมีโปรแกรมการลดบุหรี่ให้ คัดกรองการดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสารเสพติด นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน พร้อมกับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 6 รายการ ได้แก่ 1.บริการยาคุมกำเนิด 2.ยาคุมกำเนิดสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร 3.ยาคุมฉุกเฉิน 4.ถุงยางอนามัย 5.ชุดตรวจการตั้งครรภ์ และ 6.ยาบำรุงครรภ์
“วันนี้ร้านยาที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่ร้านขายยาเท่านั้น แต่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพประเทศ ทั้งการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพและส่งเสริมป้องกัน ตามความรู้และบทบาทของวิชาชีพ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สำหรับ “ร้านบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” ได้แก่ 1.ปวดหัว 2.เวียนหัว 3.ปวดข้อ 4.เจ็บกล้ามเนื้อ 5.ไข้ 6.ไอ 7.เจ็บคอ 8.ปวดท้อง 9.ท้องผูก 10.ท้องเสีย 11.ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ 12.ตกขาวผิดปกติ 13.อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 14.บาดแผล 15.ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา และ 16.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ต้องการเข้ารับ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ”
เพียงนำบัตรประชาชนไปรับบริการได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการ โดยสังเกตที่หน้าร้านจะมีสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือเข้าไปดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/204