แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังชี้ การผ่าตัดแผลเล็กสามารถทำได้กับผู้ป่วยทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนสูงอายุ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่รบกวนระบบกล้ามเนื้อและอวัยวะอื่นๆ น้อย เมื่อแผลมีขนาดเล็ก การเสียเลือดน้อย การฟื้นตัวของผู้ป่วยจึงรวดเร็ว ไม่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน
โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงวัย ในอดีตการผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดใหญ่ แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมาก ทำให้การรักษาโรคทางกระดูกสันหลังสามารถลดขนาดของการผ่าตัดเหลือเพียงแผลขนาดเล็ก เจ็บน้อย ที่เรียกว่า “การผ่าตัดส่องกล้อง” ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และได้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดใหญ่
ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ เพราะโรคประจำตัวและปัญหาสุขภาพหลายประการ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สูงอายุมักจะพบเจอเกี่ยวกับโรคกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อม ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม หรือบางครั้งก็มีข้อต่อกระดูกสันหลังเคลื่อนร่วมด้วย
นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่าการผ่าตัดในผู้สูงอายุจะมี Keyword อยู่ 2 คำ คือ 1 การผ่าตัดกระดูกสันหลัง 2 ผู้สูงอายุ โดยปกติการผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังของมนุษย์ บริเวณข้อต่อจะค่อนข้างซับซ้อนที่สุด เพราะจะประกอบไปด้วยกลุ่มของข้อต่อและกระดูก สิ่งสำคัญคือเส้นประสาทที่อยู่ภายใน ลักษณะคล้ายกับเรามีข้อต่อเรียงตัวกันโดยมีเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นค่อนข้างซับซ้อนพอสมควรในแง่ของกายวิภาคและเรื่องของความมั่นคงแข็งแรง ดังนั้นจึงทำให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความยากและต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำหัตถการ
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการผ่าตัดหลายๆ ครั้ง หลายๆ กรณีจำเป็นต้องเป็นการผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บเยอะ เสียเลือดมาก การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้าและมักเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ผู้ป่วยอาจจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ดังนั้นการผ่าตัดในผู้สูงอายุมักจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย และเมื่อรวมทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือ การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม นพ.ธนวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า จะลดความเสี่ยงได้ก็ต้องค้นหาความเสี่ยงก่อน อันนี้เป็นหลักง่ายๆ ซึ่งก่อนที่เราจะทำการผ่าตัด ก็จะต้องค้นหาว่าแท้จริงแล้วผู้ป่วยรายนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ประเมินแล้วสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันเราสามารถเลี่ยงความเสี่ยงได้ ซึ่งหลายๆ กรณีเกิดจากการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยเสียเลือดมากเกินไป เจ็บมากเกินไป และกระบวนการผ่าตัดไปรบกวนระบบของร่างกายมากเกินไป ดังนั้นเราจึงเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ มาเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อลดข้อจำกัดดังที่กล่าวมานี้ ล่าสุดที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ สามารถทำการผ่าตัดยึดตรึงกระดูก 1 ระดับ ด้วยแผลขนาดเล็กเพียง 1 ซม. จำนวน 4 แผล ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย บาดเจ็บน้อย และสามารถกลับมายืนและเดินได้เร็วกว่าปกติ
สำหรับการผ่าตัดแผลใหญ่และการผ่าตัดแบบแผลเล็กในผู้สูงอายุนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างแตกต่างกันมาก จากเดิมอาจจะนอนโรงพยาบาลถึง 2 สัปดาห์ และมีอาการปวดแผลผ่าตัดอย่างน้อย 5-7 วัน แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ผู้ป่วยสามารถกลับมายืน-เดินได้หลังจากทำการรักษาไปแล้ว 1-2 วัน การใช้ยาควบคุมความเจ็บปวดก็จะน้อยกว่าหรือแทบไม่ต้องใช้เลย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ดังนั้นนอกจากจะย่นระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลแล้ว ยังลดโอกาสในการนอนติดเตียงนานๆ ลงได้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องระบบทางเดินหายใจ ทำให้ถุงลมในปอดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดภาวะปอดแฟบ และอาจเกิดปอดติดเชื้อตามมา ดังนั้นการผ่าตัดแบบแผลเล็กจึงตอบโจทย์ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อแผลเล็ก การฟื้นตัวจะเร็วกว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีทั้งเทคนิคและอุปกรณ์การผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุด ที่สำคัญยังมีแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ผล ได้อย่างแม่นยำ ตรงจุดในการวินิจฉัยโรค เพื่อทำการรักษาที่ต้นเหตุให้หายอย่างยั่งยืน