อย. ร่วมขับเคลื่อนเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาขาดสารไอโอดีน

www.medi.co.th

อย. สุ่มตรวจคุณภาพเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน หวังให้คนไทยได้รับไอโอดีนที่เพียงพอและเหมาะสม ช่วยลดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย พร้อมแนะผู้บริโภคเลือกซื้อเกลือเสริมไอโอดีน ให้ดูฉลากและมีเลข อย.
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยโดยเฝ้าระวังเกลือและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่เสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่องปัจจุบันพบเกลือบริโภคมากกว่าร้อยละ90มีคุณภาพมาตรฐานและปริมาณไอโอดีนสอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายซึ่งผ่านคุณภาพมาตรฐาน
มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดย อย. ร่วมกับภาครัฐ อาทิ กรมอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคที่เสริมไอโอดีนทั้งสถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย และในครัวเรือนและร่วมกับภาคเอกชน ได้แก่ชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนทั้งสามภาค (ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ) ผู้ประกอบการอาหารในการควบคุมคุณภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลในการศึกษาวิจัยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไอโอดีนของแต่ละห้องปฏิบัติการในประเทศไทยให้มีความแม่นยำ แม่นตรง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป้าหมายสำคัญคือ มุ่งหวังให้คนไทยได้รับไอโอดีนเพียงพอและเหมาะสมทั้งนี้ ปริมาณไอโอดีนที่ต้องการต่อวัน สำหรับทารกและเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ประมาณ 90 ไมโครกรัม เด็กอายุ 6-12 ปี ประมาณ 120 ไมโครกรัม ผู้ใหญ่ทั่วไป ประมาณ 150 ไมโครกรัม และหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน
“ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อและใช้เกลือเสริมไอโอดีนหรือผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีน โดยดูได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า“เสริมไอโอดีน”ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลข อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการตรวจสอบทั้งสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดรองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด”