กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)เผยความคืบหน้าการดำเนินการแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) นำ AI แปลตำรับ ตำรายาโบราณซึ่งเป็นสมบัติชาติ เพื่อนำเข้าสู่ Knowledge-based และ Big Data ใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ เพื่อวางแผนด้านสุขภาพ การใช้บริการ หรือการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเพื่อต่อยอดมูลค่าเศรษฐกิจสมุนไพร ในอนาคต
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร. เพียรพูล กมลจิตร์ประภา คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการ กองวิชาการและแผนงานเปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) ภายหลังดำเนินการ MOU ร่วมกันมาครบ 2 ไตรมาส
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ผลิตภัณฑ์ สมุนไพร การบริการการดูแลสุขภาพมากมาย จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทำการศึกษา วิจัย และพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) โดยร่วมกันพัฒนาใน 4 โมดูล จนปัจจุบันมีความคืบหน้า ดังนี้ โมดูลที่ 1 Digital TTM Knowledge Management กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่มีบันทึกในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก กว่า 50,000 รายการ โดยส่งต่อให้ มจพ. พัฒนาระบบ Smart TTM Library เพื่อรองรับการจัดการภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทย และจะจัดเก็บต้นฉบับในรูปแบบภาพดิจิทัลและข้อมูลที่ได้รับการถ่ายถอด-ปริวรรตแล้ว รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้ จากหมอพื้นบ้าน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จะใช้ความรู้ จากการศึกษาวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เช่น Ontology, Knowledge Graph เป็นต้น มาใช้ในการพัฒนา ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วนั้นจะทำให้เกิด Knowledge-based เพื่อให้บริการองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ ด้วยตนเอง และนักวิชาการ โดยผ่านระบบสืบค้นข้อมูลอย่างอัจฉริยะ โมดูลที่ 2 TTM Expert & Recommendation Systems กรมฯ มีการวิเคราะห์ เตรียมข้อมูลจากตำรับ ตำราการแพทย์แผนไทยที่ประกาศเป็นของชาติแล้ว กว่า 7,000 รายการ และ ที่มีการลงทะเบียนตามมาตรา 15 จากนายทะเบียนจังหวัดไม่น้อยกว่า 200,000 ตำรับ นำมาถ่ายถอด-ปริวรรตภาษาโบราณ ที่บันทึกในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก แต่กระบวนการแปล หรือถ่ายถอดต้องใช้เวลานานและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินการ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนน้อย จึงร่วมกันวิจัย และพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญและระบบช่วยแนะนำ (TTM Expert and Recommendation Systems) โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น OCR (Optical Character Recognition), NLP (Natural language processing) และ Speech Recognition เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวก และ เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายถอด-ปริวรรต และสังคายนาตำรับ/ตำราการแพทย์แผนไทย ให้การดำเนินการแปลอักษรโบราณออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสูง โมดูลที่ 3 Herbal Product & Service Big Data Management การพัฒนา Big Data ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้ง สื่อสังคมออนไลน์ โดยอาศัยการศึกษาและวิจัยด้าน AI และ Deep learning ในวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคต ใช้ในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณค่า โมดูลที่ 4 Smart TTM Herbal Product & Service Innovation การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับการสร้างความรอบรู้และบริการทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรอัจฉริยะ ซึ่งได้แก่ 1) ระบบ Panthai Chatbot สามารถตอบคำถาม ประเมินสุขภาพ วิเคราะห์ข่าวปลอมด้านการแพทย์แผนไทยและระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ 2) ระบบ Panthai Good Doctor ตรวจรักษาด้วย แพทย์แผนไทย AI โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก และ มีประสิทธิภาพ (Anywhere, Anytime and Anydevice) และ 3) ระบบ Thailand Herbal Expo & Garden Metaverse ที่สามารถเยี่ยมชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยและสวนสมุนไพรในสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริง รวมถึงสามารถซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านทางระบบได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะนำเทคโนโลยี Virtual Reality/Augmented Reality: VR/AR, NLP, และ Deep learning มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวต่อไป ว่า การดำเนินการร่วมกันดังกล่าวนั้น จะทำให้ ปีพ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน ได้ใช้ประโยชน์จากการดำเนินการทั้ง 4 โมดูล คือ 1.มีระบบคลังความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart TTM Library) ที่รวบรวมตำรับ/ตำรายาแผนไทย ที่มีการแปลจากต้นฉบับแล้วมีข้อมูล เชิงพฤกษศาสตร์ของพืชสมุนไพรที่เชื่อมโยงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ในทุกมิติจากหมอพื้นบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิ และหลักฐานเชิงประจักษ์ จำนวน 70,000 รายการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในด้านการศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ 2. มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและบริการทางการแพทย์แผนไทย (Herbal Product & TTM Service Big Data) ที่เชื่อมโยงข้อมูลการผลิต การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ การตรวจรักษาด้วยยาสมุนไพรพร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) โดยแสดงในรูปแบบ แผนภูมิรูปภาพ แผนที่ กราฟ ตาราง วิดีโอ และอินโฟกราฟิก (Data Visualization) แสดงแนวโน้มของการผลิต การจำหน่าย และ พฤติกรรมผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการตรวจรักษาด้วยยาสมุนไพร 3.มีแอปพลิเคชันโต้ตอบอัตโนมัติ (Panthai Chatbot) เพื่อตอบคำถาม และประเมินสุขภาพให้กับประชาชน สร้างความรอบรู้ สามารถวิเคราะห์ข่าวปลอมด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรได้ไม่น้อยกว่า 200 คำถาม (Intent) และสามารถวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ได้ไม่น้อยกว่า 5 กลุ่มโรค เช่น 1.นอนไม่หลับ และเจ็บปวดเรื้อรัง 2.ผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตระยะกลาง 3.สะเก็ดเงิน 4.กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ 5.บำบัดยาเสพติด พร้อมทั้งสามารถระบุชนิดไพรด้วยภาพ ได้ไม่น้อยกว่า 300 ชนิด
นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ ต้นแบบ Panthai Chatbot (แผนไทยแชทบอท) เพื่อทดสอบการตอบคำถามสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรด้วย AI รวมทั้ง แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะทั้ง 4 โมดูล ผลงานนวัตกรรมดิจิทัล รางวัลชนะเลิศ Digital Transformation Award 2019 สาขา Emerging Technology โครงการระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ (Herb ID) ซึ่งเป็นผลงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ได้รับรางวัล และ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM) อีกด้วย