หมดกังวลเรื่องผ่าตัด! ทำความรู้จัก “การผ่าตัดนรีเวชผ่านกล้องแบบรูเดียว” ทางเลือก การรักษาหลากหลายโรคของผู้หญิง

www.medi.co.th


หมดกังวลเรื่องผ่าตัด! ทำความรู้จัก “การผ่าตัดนรีเวชผ่านกล้องแบบรูเดียว” ทางเลือก การรักษาหลากหลายโรคของผู้หญิง แพทย์ รพ. วิมุต ชี้ “เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดแทรกซ้อน”
หากเราถามผู้หญิงส่วนใหญ่ว่าปัญหาสุขภาพที่กวนใจสาว ๆ มีอะไรบ้าง คำตอบอันดับต้น ๆ ของหลาย ๆ คนคงจะหนีไม่พ้นอาการปวดท้องประจำเดือนหรือประจำเดือนมาไม่ปกติอย่างแน่นอน ซึ่งหลาย ๆ ครั้งอาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในของสตรี เช่น มดลูกหรือรังไข่ และเมื่อได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุแล้ว ในหลายกรณี แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดทางนรีเวชนั่นเอง เมื่อได้ยินคำว่า “ต้องผ่าตัด” สาวๆ คงจะรู้สึกกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะกลัวความเจ็บปวดจากการผ่าตัดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่สาวๆ นึกกลัวก็คือแผลเป็นที่ไม่สวยงามจากการผ่าตัดทางหน้าท้อง วันนี้ ผศ.นพ.วรเดช หงษ์สาคร สูตินรีแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงเทคโนโลยีอย่างการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลน้อยรูปแบบต่าง ๆ ที่เปลี่ยนภาพจำการผ่าตัดนรีเวชแบบเดิม ๆ รวมถึงเผยความผิดปกติที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้อง ตลอดจนข้อดีที่น่าสนใจของเทคโนโลยีนี้


ส่องเทคโนโลยี “การผ่าตัดนรีเวชผ่านกล้อง” แพทย์ชี้ช่วยซ่อนแผล ปลอดภัย และฟื้นตัวไว
จากข้อมูลสถิติในปี 2562 พบว่าผู้หญิงไทยราว 32,000 ราย/ปี ต้องเข้ารับการผ่าตัดทางนรีเวช โดยเฉพาะการผ่าตัดมดลูก และตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย ผศ.นพ.วรเดช หงษ์สาคร เผยว่า “ในอดีต การผ่าตัดทางนรีเวชจะทำกันโดยการเปิดหน้าท้องเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดก้าวล้ำไปมาก ทั้งการผ่าตัดทางช่องคลอด การผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย ซึ่งเข้ามาช่วยยกระดับประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทั้งยังลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและย่นระยะเวลาในการพักฟื้น ช่วยให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันปกติได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังลดขนาดแผลผ่าตัดลงได้อย่างมาก”


จุดเด่นของ “การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชแบบรูเดียว” พร้อมเข้าใจอาการป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ได้
โดยทั่วไปการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชจะมีแผลผ่าตัดขนาด 0.5-1.5 ซม. จำนวน 4 แผลที่บริเวณสะดือและท้องน้อย แต่เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชแบบรูเดียว (Single-port Laparoscopic Surgery in Gynecology) เป็นเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องที่ทำผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก (ขนาด 1-1.5 ซม.) เพียงรูเดียว โดยแผลผ่าตัดจะถูกซ่อนไว้ที่สะดือ


การผ่าตัดส่องกล้องแบบรูเดียวใช้ในการรักษาความผิดปกติทางนรีเวชมากมาย โดยเฉพาะโรคที่ไม่ค่อยซับซ้อน ได้แก่ การผ่าตัดท่อนำไข่ สำหรับภาวะท่อนำไข่บวมน้ำและการตั้งครรภ์นอกมดลูก, การผ่าตัดปีกมดลูก เพื่อรักษาถุงน้ำหรือก้อนรังไข่ และการทำหมัน นอกจากนี้การส่องกล้องยังใช้ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ การผ่าตัดมดลูก เพื่อการรักษาโรคเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ เป็นต้น, การผ่าตัดเลาะถุงน้ำรังไข่แบบเก็บเนื้อรังไข่ที่ดีไว้, การผ่าตัดเลาะเนื้องอกมดลูกแบบเก็บมดลูกไว้ หรือการนำเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแบบรูเดียวมาใช้ในการผ่าตัดทางมะเร็งวิทยาเพื่อประเมินระยะโรค (Surgical Staging) ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดที่มีความยากและซับซ้อน เป็นต้น” ผศ.นพ.วรเดช หงษ์สาคร อธิบาย
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องแบบรูเดียว คือลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดเนื่องจากแผลขนาดเล็กและตำแหน่งการผ่าตัดที่สะดือ ซึ่งเป็นจุดที่มีเส้นประสาทและเส้นเลือดมาเลี้ยงน้อย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของแผลอักเสบติดเชื้อหรือแผลปริแยก และอีกเรื่องที่สำคัญคือความสวยงาม เนื่องจากมีแผลเล็กและยังถูกซ่อนไว้ในสะดือ ทำให้มองไม่เห็นแผลที่หน้าท้องเลย เสมือนไม่เคยผ่าตัดมาก่อน โดยระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดส่องกล้องแบบรูเดียวใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1-2 วัน หลังจากนั้นกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ตามปกติ ก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ระยะการพักฟื้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคด้วย


แพทย์รพ.วิมุต เผยว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชแบบรูเดียว ไม่ได้เหมาะสมกับโรคที่มีความซับซ้อนมาก เช่น พังผืดในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ หรือมะเร็งระยะลุกลาม โดยรูปแบบการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา “แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำสำหรับผู้หญิงทุกคนคือ การรู้เท่าทันอาการเจ็บป่วยและเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเมื่อพบอาการผิดปกติทางนรีเวช เช่น อาการปวดประจำเดือนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ปวดท้องน้อยเฉียบพลันหรือปวดเรื้อรัง มีเลือดออกจากช่องคลอดนอกรอบเดือน หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้หญิงควรหมั่นตรวจสุขภาพและตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและการใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ” ผศ.นพ.วรเดช หงษ์สาคร กล่าวทิ้งท้าย