ม.มหิดลร่วมสร้าง'โอกาสทางการศึกษาคนพิการระดับบัณฑิตศึกษา'ผ่านงานจิตอาสา

www.medi.co.th

แม้จำนวนนักศึกษาพิการที่สามารถก้าวขึ้นสู่การศึกษาระดับสูงในปัจจุบันจะยังคงมีจำกัด แต่หากได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมจะมีโอกาสที่เป็นไปได้สูงในการประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สินีวัลยา วิชิต รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ พัฒนาเครือข่าย และกิจการนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นับเป็นเวลาเกือบครึ่งทศวรรษแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบัณฑิตวิทยาลัย ได้จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการและผู้ช่วยนักศึกษาพิการตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ


ตาม SDG ข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) และ SDG ข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) เตรียมพร้อมรับโลกที่เปลี่ยนแปลงในสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย (Inclusiveness Society)


มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่ได้จัดให้มีทุนผู้ช่วยนักศึกษาพิการในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่รักในการทำงานจิตอาสา ได้ช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาพิการในการทำกิจกรรมทางการศึกษาต่างๆ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง อาทิ การค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ เป็นต้น


เงื่อนไขการให้ทุนเปิดกว้างสำหรับนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการลงทะเบียนเรียนอย่างต่อเนื่อง พิจารณาเป็นรายปีสำหรับนักศึกษาพิการ และพิจารณาเป็นรายภาคการศึกษา หรือทุก 4 เดือน สำหรับผู้ช่วยนักศึกษาพิการ รายละเอียดการปฏิบัติงาน ตามข้อตกลงผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ของชั้นปีที่ 1 เป็นต้นไป


สิ่งที่ผู้ช่วยนักศึกษาพิการได้รับ นอกจากความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนผู้พิการแล้ว ยังจะได้รับทุนอุดหนุนทางการศึกษา รวมทั้งได้ฝึก "ทักษะชีวิต" ให้พร้อมอยู่ร่วมสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง


นางสาวทิพยาภรณ์ เข็มพิลา นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ภาคพิเศษ) สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาพิการผู้ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนนักศึกษาที่ได้รับทุนผู้ช่วยนักศึกษาพิการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่าปัจจุบันคนพิการทางการเห็นยังคงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้เท่าที่ควร เนื่องจากยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ยังไม่ครอบคลุมทุกการเข้าถึง


ซึ่งคนพิการแต่ละประเภทมีความจำเป็นพิเศษในการเข้าถึงที่แตกต่างกัน การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักศึกษาพิการสามารถก้าวขึ้นสู่การศึกษาระดับสูงในอัตราส่วนที่มากขึ้นได้


นอกจากนี้ยังได้แสดงทรรศนะว่าการเปิดให้มี "จิตอาสาเพื่อนช่วยเรียน" เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผู้ที่เคยอยู่แต่ในวงจำกัด หรือในกลุ่มของตัวเอง ได้ออกจากพื้นที่ส่วนตัว เพื่อมารู้จัก และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในความแตกต่างหลากหลาย


มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบัณฑิตวิทยาลัย ยังคงยืนยันที่จะให้การสนับสนุนต่อไป ผ่าน "จิตอาสาเพื่อนช่วยเรียน" ส่งต่อความเอื้ออาทรเพื่อนมนุษย์ จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อร่วม "สร้างเสริมพลังในเพื่อนมนุษย์" สู่อนาคตแห่งการอยู่รอดที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติต่อไป


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


ภาพจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล