ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคว้ารางวัลเภสัชกรดีเด่น สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ

www.medi.co.th

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เข้ารับรางวัลเภสัชกรดีเด่น สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ จากเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ( 12th Thailand Pharmacy Congress and World Pharmacist Day 2023) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดย ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี

รางวัลดังกล่าวเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นเพื่อมอบเป็นรางวัลให้กับเภสัชกรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์ยา อาหารและเครื่องสำอางรวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การประกันและควบคุมคุณภาพที่มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม มีพฤติกรรมเป็นแบบอย่างที่ดีของวิชาชีพและอุทิศตนต่อวิชาชีพเภสัชกรรมและสังคม โดยเป็นผู้ถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านเภสัชอุตสาหกรรมผ่านการศึกษาดูงาน การสอนงานนิสิตนักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์  ทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท เพื่อส่งเสริมการผลิตบุคลากรเข้าสู่วงการเภสัชอุตสาหกรรม

ดร.ภญ.มุกดาวรรณ เป็นผู้ผลักดัน ขับเคลื่อนและกำกับดูแลโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต          ระยะที่ 2 ขององค์การเภสัชกรรม ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งมีงบประมาณในการลงทุน 5,607 ล้านบาท ประกอบด้วยอาคารผลิตยาเม็ด อาคารผลิตยาน้ำรับประทาน ยาครีม ขี้ผึ้ง และยาฉีด เป็นโรงงานใหม่ที่ถูกออกแบบโดยใช้หลักการการออกแบบโรงงานสีเขียว (Green Factory) เป็นโครงการที่มีการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยของเสีย หรือรบกวนประชาชนในพื้นที่ ตามมาตรฐาน LEED USA ระดับ Certified ทั้งยังเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงโดยนำ Digital Technology นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ทั้งกระบวนการ มาทดแทนแรงงานคน มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากโรงงานพระรามหกในปัจจุบันสามารถยกระดับความสามารถการผลิตยาของโรงงานขององค์การเภสัชรรมทั้งด้านคุณภาพและปริมาณการผลิต


        นอกจากนี้ยังมีผลงานและรางวัลดีเด่นต่างๆ ในการประกอบวิชาชีพ  เช่น รางวัลเภสัชกรอุตสาหการ  ดีเด่น ประจำปี 2563 โดยสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย) รางวัลสตรีตัวอย่างแห่งปี Women’s Exemplified Award 2018 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กร โดยมูลนิธิ เพื่อสังคมไทย และรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2565


        ในส่วนของผลงานเด่นด้านวิชาการมีผลงานวิจัยเผยแพร่มากมาย อาทิ เรื่อง การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานบริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ในประเทศไทย (2564) เรื่อง Efavirenz WHO PQ: กรณีศึกษาความร่วมมือรัฐ-เอกชน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและควบคุมคุณภาพ (2563)


      

  องค์การเภสัชกรรมมีเภสัชกรที่เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ เช่น เภสัชกรที่มีหน้าที่วิจัยและพัฒนา, เภสัชกรควบคุมการผลิต, เภสัชกรควบคุมงานประกันคุณภาพ เภสัชกรดูแลคลังยา และเภสัชกรที่ให้คำปรึกษา หรือ   จ่ายยา มีเภสัชกรควบคุม ติดตาม และดูแลตลอดกระบวนการผลิตยา ให้ความสำคัญในการดำเนินงานผลิตยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP PIC/S และมุ่งมั่นดำเนินการยกระดับ   สู่มาตรฐานระดับสากล WHO GMP องค์การเภสัชกรรมรักษาคุณภาพมาตรฐานการผลิตด้วยดีมาโดยตลอด              ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ การชั่งจ่าย การผลิตและการบรรจุผลิตภัณฑ์ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในทุกขั้นตอนภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา