ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เคยได้ชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการร้อนขึ้นของโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียสว่า จะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงจากการเกิดภัยธรรมชาติ และความผันผวนต่อระบบต่างๆ ของมนุษย์
โดยหากอุณหภูมิโลกในปัจจุบันยังคงสูงขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้ออกมาประเมินเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นใหม่ว่า อาจเกิดเร็วขึ้น 3 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2570 หากโลกยังคงไม่สามารถยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง
อาจารย์ ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อว่า การเฝ้ารอดูปรากฏการณ์โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ด้วยการติดตามเพียงตัวเลขที่ประเมินด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย หากขาดความเข้าใจ เพื่อการปรับตัว และลงมือป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้ ทุกคนสามารถทำหน้าที่ "นักวิทย์พลเมือง" (Citizen Scientists) เพื่อร่วมเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของโลกได้
ซึ่งการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สำคัญที่ "การวางโครงสร้างทางสังคม" เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุปสรรคสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาด้าน "การสื่อสารวิทยาศาสตร์" (Science Communications) ที่มักแสดงข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์แบบ "เฉพาะส่วน" ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมองไม่เห็นปัญหาใน "ภาพรวม" ว่ามีความสำคัญร่วมกันมากเพียงใด จึงยังไม่เกิดความตระหนักใส่ใจต่อปัญหาเท่าที่ควร ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาสวมวิญญาณ "นักวิทย์พลเมือง" สร้างอนาคตให้กับโลก
ตัวอย่างการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ฝึกเป็น "นักวิทย์พลเมือง" โดยใช้ทักษะ "การคิดเชิงวิเคราะห์" (Critical Thinking) ได้แก่ การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ "วาดภาพแห่งอนาคต" หากโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า จะเตรียมการรับมืออย่างไร หรืออาจจัดทำเป็น "บัตรภาพ" เพื่อฝึกจินตนาการ และลำดับความคิด สู่การแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงด้วยเหตุและผล โดยจะไม่มีการชี้ถูกหรือผิด เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดได้อย่างเต็มที่
อาจารย์ ดร.จิดาภา คุ้มกลาง อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า การฝากความหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รับผิดชอบต่อ "อนาคตของโลก" แต่เพียงฝ่ายเดียว จะยิ่งไปสร้าง "ความกดดัน" มากกว่าความรู้สึก "รับผิดชอบต่อโลก" ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกถือเป็นหน้าที่ของทุกคน
การสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ได้ประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในปัญหาโลกร้อน จะต้องใช้ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย จากการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในปัญหาของโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดี แต่ยังคงไม่แน่ใจว่าจะออกแบบชีวิต หรือปรับตัวอย่างไรให้เท่าทัน
ซึ่งการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสนใจด้านเดียวกัน ได้ "พูดภาษาเดียวกัน" ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา และสร้างเครือข่าย จะทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์สู่ "พลังเปลี่ยนโลก" ได้ต่อไป
ติดตามข่าวสารจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่น่าสนใจได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210