มะเร็งเต้านม พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทยและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบหญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงสุด 38,559 ราย ส่วนมากพบในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี 5,177 ราย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักไม่มีอาการเริ่มแรกแสดงให้เห็น หรืออาจเป็นอาการเล็กน้อยทำให้มองข้ามไป จนกระทั่งมะเร็งเริ่มอยู่ในระยะลุกลาม มีอาการเด่นชัด แล้วค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งอาจสายเกินไป
มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งพบได้มากที่สุด ประมาณ 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนม จะพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10% นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของมะเร็งมาจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกันที่สำคัญ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชายถึง 100 เท่า
โดย รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า แนะนำว่า มะเร็งเต้านมยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดมากขึ้น ซึ่งสุภาพสตรีที่มีเกณฑ์หมาะสมที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองในแต่ละช่วงอายุ ควรปฏิบัติดังนี้
- อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ
- อายุ 30-35 ปี ตรวจเป็นพื้นฐาน (base line)
- อายุ 35-49 ปี ตรวจทุก 1-2 ปี
- อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง
ส่วนผู้ที่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยง อาทิ อายุ, เชื้อชาติ, ฮอร์โมนเพศ, พันธุกรรม หรือหน้าอกแน่น (Dense Breasts) ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อปี แต่หากพบความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม กรณีนี้ต้องเข้าพบแพทย์ทันที”
เนื่องจากมะเร็งเต้านมในระยะแรกไม่มีอาการ ดังนั้น การคัดกรองด้วย เครื่องดิจิทัลแมม โมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เข้ามาช่วย จะทำให้สามารถพบความผิดปกติในระยะแรกได้ โดยทั้ง 2 เทคนิคต่างล้วนมีความสำคัญต่อการตรวจพบมะเร็งเต้านม กล่าวคือ
การตรวจแมมโมแกรม (mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีเอกซเรย์ชนิดพิเศษ พลังงานต่ำ ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกายหลังตรวจเสร็จ และไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกาย สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีความละเอียดสูง สามารถระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว ทำให้วางแผนการรักษาได้เหมาะสม และเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็งร้ายได้
แม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ผู้ที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมาก จะทำให้ความแม่นยำในการตรวจด้วยแมมโมแกรมลดลง หรือ อาการบางอย่างของมะเร็งไม่อาจสรุปผลได้ด้วยแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว บางอาการของมะเร็งในระยะแรกเมื่อตรวจด้วยแมมโม แกรมแต่อาจไม่พบความผิดปกติ และในบางกรณี ขณะตรวจแมมโมแกรมอาจหนีบไม่ถึงก้อนเนื้อที่ผิดปกติ และไม่สามารถดึงเต้านมให้เข้ามาอยู่ในฟิล์มได้ เนื่องจากก้อนเนื้อบางตำแหน่งอยู่ด้านในมาก ๆ หรืออยู่บริเวณขอบของฐานเต้านมมากๆ
ส่วน การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์เต้านม (breast ultrasound) นั้น เป็นการตรวจโดยส่งคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เข้าไปในบริเวณเนื้อเต้านม สามารถบอกความแตกต่างของเนื้อเยื่อ ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ เป็นก้อนเนื้อที่เสี่ยงหรืออาจเป็นมะเร็งได้ แต่จะเหมาะกับคนอายุน้อยกว่า 25 ปี และผู้ที่มีเต้านมหนาแน่นมาก(ผู้ที่มีอายุมากกว่านั้นสามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ โดยตรวจร่วมกับการทำแมมโม แกรม) นอกจากนี้ อัลตร้าซาวด์ยังเหมาะกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงในช่วงให้นมบุตร รวมถึงคนที่ผ่านการเสริมหน้าอกมา เป็นต้น”
มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจร่างกายอาจยังตรวจไม่พบ เนื่องจากรอยโรคเล็กมากจึงเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึง การเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมร่วมกับการอัลตร้าซาวด์เต้านม และการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง จึงมีความสำคัญ เพื่อความแม่นยำและถูกต้องที่มากยิ่งขึ้น
“โรคมะเร็ง หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกโอกาสที่จะรักษาให้หายนั้นมีสูง แต่ถ้าปล่อยไว้จนกระทั่งเป็นมาก โอกาสรักษาให้หายก็จะมีน้อยลง ดังนั้น สุภาพสตรีโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองและตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ การตรวจพบเร็วไม่เพียงส่งผลดีต่อการรักษา แต่ยังช่วยให้เรามีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายขึ้น” รศ.นพ.ประกาศิต ทิ้งท้าย