กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ทาเคดา ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก

www.medi.co.th

สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยปี 2566 สถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้วกว่า 110,809 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 106 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566*) ทั้งนี้พบตัวเลขการระบาดที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ตอกย้ำความจริงว่าไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข สร้างภาระทางด้านทรัพยากร ภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนไทย


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และทาเคดา ประเทศไทย และพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero ร่วมส่งต่อความหวังจาก “อิงมา” Dengue Virtual Influencer ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอิงมาจากสถิติของคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อไข้เลือดออกกว่า 1.2 ล้านคนใน 15 ปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือนสิ่งเตือนใจว่า “โรคไข้เลือดออกใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่คิด” กับงาน “ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก” ตอกย้ำข้อความแห่งความหวังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกด้วยมาตราการการเฝ้าระวัง การควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน อีกทั้ง ยังสามารถส่งต่อความปรารถนาดีผ่านข้อความมากมายให้แก่คนที่คุณรักเพื่อให้ปลอดภัยจากไข้เลือดออกผ่าน 5 โซนประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสและมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเป็น “Message of Hope Gallery”     แกลเลอรี่ประสบการณ์จริงจากผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของโรคไข้เลือดออก “The Last Message from Ing-Ma” บูธถ่ายภาพที่เปรียบดังแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กับการพบกับอิงมาที่จะมาชวนทุกคนร่วมปักหมุด หยุดไข้เลือดออกไปด้วยกัน


 


 

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีลักษณะร้อนชื้น จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี โดยในปีนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้ป่วยสูงและต่อเนื่อง จึงต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น กรมควบคุมโรคจึงแนะนำให้ประชาชนรีบกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำและป้องกันยุงลายกัดเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามหลัก ‘3 เก็บป้องกัน 3 โรค’ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะ และ 3.เก็บแหล่งน้ำ ปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันอื่นๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงฯ เพื่อร่วมกันลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกในสังคมไทยและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกได้ในอนาคต”


 


 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจหลักของกรุงเทพมหานครคือการที่ผู้คนมีความมั่นคงทางสุขภาพ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ได้ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมมาตราการการป้องกันโรคไข้เลือดออก อีกทั้ง ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero ในการสื่อสารถึงภัยของไข้เลือดออกที่มีเป้าหมายในการลดการแพร่เชื้อ ลดการระบาดของโรค ที่นำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ สำหรับการร่วมกันทำพันธกิจ ปักหมุด หยุดไข้เลือดออกและร่วมกันบอกลาไข้เลือดออกไปกับน้องอิงมาในวันนี้ คือหมุดหมายสำคัญในการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างเกราะป้องกันและตอกย้ำว่าเราสามารถเอาชนะโรคไข้เลือดออกได้”

ทางด้าน มร. ปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทาเคดามุ่งมั่นในการมอบสุขภาพที่ดีกว่าและอนาคตที่สดใสให้กับผู้คนทั่วโลก ผ่านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เราตระหนักดีว่าไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ที่มีคนจำนวนกว่า 390 ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ โดยจำนวนผู้ป่วยกว่า 96 ล้านคนมีอาการป่วยอย่างรุนแรง** เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เรื่องไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ทั้งการพัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันเพื่อควบคุมการระบาด การทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชน และการส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันของโรคไข้เลือดออก ขอขอบคุณพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero และทุกภาคส่วนที่ร่วมกันแสดงถึงพลังแห่งความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกและบรรลุเป้าหมายในการให้ไข้เลือดออกในไทยเป็นศูนย์ไปด้วยกัน”

โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักพบในประเทศเขตร้อนและจะระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี ไข้เลือดออกพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แต่พบว่าในวัยทำงานมีการเสียชีวิตสูงสุด ซึ่งกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไข้เลือดออกสามารถสังเกตได้จากอาการ โดยหากมีอาการไข้สูงลอย มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว ให้สันนิษฐานว่าอาจติดโรคไข้เลือดออกได้ ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยเร็ว เนื่องจากโรคไข้เลือดออกจะทำให้มีเกล็ดเลือดที่ต่ำและอาจนำพาไปสู่อาการช็อกและการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนควรหมั่นปฏิบัติตามมาตราการในการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก เช่น ปิดภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด ป้องกันการเข้าไปวางไข่ของยุงลาย เปลี่ยนน้ำในภาชนะอยู่เสมอๆ เพื่อไม่ให้มีแหล่งน้ำที่ยุงสามารถไปเพาะพันธุ์ได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำ และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ปลอดโปร่งแล้ว โดยไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยสามารถปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้ท่านเพื่อขอรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก