ม.มหิดลยกเครื่อง IT แพทยศาสตรศึกษา สู่ระบบ All-in-one

www.rodweekly.com

ทุกวันนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงคุณภาพของความเป็นสถาบันผลิตแพทย์ที่ "เป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยมีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเป็นเบื้องหลังสำคัญของความสำเร็จ   


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึง ก้าวที่สำคัญของศิริราชเพื่อรักษาความ "เป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ได้แก่ การปรับโครงสร้างของระบบสารสนเทศสำหรับบริหารการศึกษาครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์แบบ All-in-one หรือครบวงจรครั้งแรก


โดยได้ปรับเปลี่ยนจาก "ระบบ SiCMS phase 2" ที่พัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ไปใช้ "ระบบ REXX" โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตอบโจทย์การจัดการด้านแพทยศาสตรศึกษาและมีความคล่องตัวสำหรับผู้ใช้งานมากกว่า โดยสามารถทำงานได้บนแพลตฟอร์มที่หลากหลายในขณะเดียวกัน ร่วมกับสามารถติดตามสมรรถนะของนักศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านแพทยศาสตรศึกษา


จากการทดลองและประยุกต์ใช้ระบบ REXX ในนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรกของคณะฯ ในช่วงประมาณ 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ สามารถใช้เก็บข้อมูลและติดตามสมรรถนะทางคลินิกของผู้เรียน เช่น การปฏิบัติงาน การทำหัตถการ พร้อมบันทึกข้อมูลการดูแลผู้ป่วยได้ในโปรแกรมเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมก้าวสู่การพัฒนาใช้ระบบ REXX ทั้งระบบในการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกในปีการศึกษา 2567 ที่จะถึงนี้


ก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน ศิริราชเตรียมจัดหาโปรแกรมสำเร็จรูป Canvas สำหรับการสร้างสื่อการสอนในระบบออนไลน์ที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครอบคลุมการสร้างบทเรียนที่สื่อสารแบบสองทางที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ทั้งในรูปแบบบทเรียนบรรยาย การสอนหัตถการทางคลินิก รวมทั้งสามารถประเมินผลและติดตามความก้าวหน้าในสมรรถนะที่เกี่ยวข้องได้ในขณะเดียวกัน


ตลอดจนสามารถต่อยอดเปิดการลงทะเบียนเรียนแบบเก็บค่าหน่วยกิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและประชาชนทั่วไป และสร้างรายได้ให้กับคณะฯ ในอนาคต โดยได้มีการวางแผนพัฒนาบุคลากร และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่กันไปด้วย ตัวอย่างบทเรียนที่มีประโยชน์ และสามารถถ่ายทอดได้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยประเภทต่างๆ เช่น NCDs, stroke การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เป็นต้น


ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คาดหวังว่า การปรับโครงสร้างของระบบสารเทศบริหารจัดการด้านการศึกษาของศิริราชในครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่เกิดประโยชน์ ทั้งกับผู้เรียน และประชาชนทั่วไปได้อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยมหิดลในอนาคต


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก ฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)


งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210