องค์การเภสัชกรรมวิจัยพัฒนาและผลิตยารักษาโรคสะเก็ดเงิน เพื่อผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

www.medi.co.th

จากสถิติของกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประมาณ 2% ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยการรักษาที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก สามารถใช้ยาทาภายนอก หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรคในการควบคุมอาการ และประมาณ 20-25% ที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม หรือยาฉีดชีวโมเลกุล โดยต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) จัดเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง โดยมีอาการแสดงที่สําคัญ คือ ผื่นแดง นูน ขอบเขตชัดเจน มีขุยหนาสีเงินปกคลุมที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายเป็นตุ่มหนอง กระจายทั่วร่างกายและหนังศีรษะ มีเล็บผิดปกติร่วมด้วย โดยผื่นอาจมีอาการคันหรืออาจมีอาการข้ออักเสบผิดรูปร่วมด้วย นอกจากโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการแสดงทางผิวหนังแล้ว ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่นๆได้ด้วย เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เบาหวาน ไขมันสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่งโรคสะเก็ดเงินถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดจะต้องใช้ยาในการประคับประคองอาการตลอดชีวิต ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด จากหลักฐานในปัจจุบันบ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันและปัจจัยกระตุ้นภายนอก
โดยวิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงิน มี 4 วิธีหลัก ได้แก่ 1. ยาทาภายนอก เช่น ยาทาสเตียรอยด์ ยาทากลุ่มวิตามินดี ยาทากลุ่มน้ำมันดิน และยาทา Dithranol (Anthralin) 2. ยารับประทาน เช่น Methotrexate Retinoid และCyclosporine 3. การฉายแสงอัลตร้าไวโอเลต เช่น Narrowband UVB และ PUVA และ 4. ยาฉีดชีวโมเลกุล เช่น Etanercept, Infliximab และ Ustekinumab เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ควรพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่ควบคุมผื่นได้ดี และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ กล่าวต่อว่า องค์การเภสัชกรรมได้วิจัยพัฒนาและผลิตยาสำหรับรักษาและบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่ ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งประกอบด้วย ยาครีม Mometasone furoate 0.1% , ยาครีม Triamcinolone acetonide 0.1% , ยาครีม Betamethasone valerate 0.1% , และโลชันTriamcinolone acetonide 0.02% , นอกจากนี้ยังมียาที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาครีม Hydrocortisone acetate 1% ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับสถาบันโรคผิวหนัง
สำหรับยากลุ่มน้ำมันดิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารสำคัญ คือ Coal tar หรือ น้ำมันดิน ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่ได้จากการกลั่นและการทำลายถ่านหินด้วยอุณหภูมิสูง โดยปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีผลิตภัณฑ์ยากลุ่มน้ำมันดิน จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ยาครีม Coal tar topical solution 5% และ แชมพูยา Coal tar topical solution 20% ซึ่งจัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน แต่ผลข้างเคียงต่ำ และเป็นยาที่สถาบันโรคผิวหนังมีการผลิตเพื่อใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมาเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี โดยสถาบันโรคผิวหนังมีความต้องการใช้ ยาครีม Coal tar topical solution 5% และแชมพูยา Coal tar topical solution 20% ในปริมาณมาก แต่ความสามารถในการผลิตมีจำกัด ทำให้การกระจายยาจากสถาบันโรคผิวหนังไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทำได้ยาก จึงเกิดปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วยที่มีความต้องการ ดังนั้นสถาบันโรคผิวหนังจึงมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนายาครีมCoal tar topical solution 5% และ แชมพูยา Coal tar topical solution 20% กับทางองค์การเภสัชกรรม โดยควบคุมการผลิตยาให้ได้ตามหลัก GMP และควบคุมคุณภาพของยาตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
นอกจากนี้ จากแนวคิดของน้ำมันดินที่เป็นยาที่ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน องค์การเภสัชกรรมได้ปรับโฉมรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากรูปแบบยาเดิมๆ ด้วยลวดลายภาพปะการังหลากชนิด ซึ่งเมื่อเกิดการทับถมก็จะกลายเป็นน้ำมันดิน เพื่อช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะสามารถออกสู่ท้องตลาดได้เดือนธันวาคม 2566
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน พบได้ทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้ป่วยสูงอายุ โดยในจำนวนนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก การรักษาที่เหมาะสม คือการทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน การฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการได้ แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นจำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดชีวโมเลกุลซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง แต่ราคาแพง ไม่สามารถเบิกได้ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ทำให้มีปัญหาในการเข้าถึงยา ถึงแม้ว่าโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาในปัจจุบันนี้สามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติเหมือนคนทั่วไป โดยผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ เหมือนการรักษาโรคทั่วไป
“ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลตัวเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ขจัดความเครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองน้ำหนักเกินเพราะจะส่งผลต่อการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นเห่อ เช่น การแกะเกา การดื่มสุรา และที่สำคัญควรรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว