ปัจจุบันผู้คนสามารถเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้น ยิ่งโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน ยิ่งพบเจอได้ง่าย เวลาตรวจสุขภาพต้องมานั่งลุ้นว่า คอเลสเตอรอลจะเกินไหม ไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือไม่ โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่มีผลให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรค ซึ่งนอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ ไขมันพอกตับ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานแล้วไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ
แพทย์หญิงปิติญา รุ่งภูวภัทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบและได้รับการวินิจฉัยเมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี อาจมีอาการอ่อนเพลียควบคู่ไปด้วย มีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงขวา
โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) หรือไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ชอบรับประทานอาหารหวาน ไม่ออกกำลังกาย และโดยส่วนใหญ่ไขมันพอกตับระยะแรกมักไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจเลือดประจำปี หรืออัลตร้าซาวด์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา ระยะการดำเนินโรคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะแรก เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
- ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่ควบคุมดูแล และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อย ๆ เกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะที่สาม การอักเสบรุนแรงต่อเนื่องเกิดพังผืด (brosis) สะสมในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลงแทนที่ด้วยพังผืด
- ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้เกิดตับแข็งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
ที่สำคัญหากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้กลายเป็นตับแข็ง และอาจนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด”
ในขณะที่ แพทย์หญิงปิติญา กล่าวต่อว่า “ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับพบความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหรือทุก 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ สามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan
“ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไขมันพอกตับโดยเฉพาะ แต่สามารถใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสามารถปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันไขมันพอกตับ ดังนี้
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือทุก 6 เดือน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือ อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อติดมัน เบคอน แฮม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เบเกอรี่ ครีมเทียม
- หลีกเลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน คุกกี้ ลูกอม น้ำผลไม้ ควรรับประทานผลไม้ทั้งผลมากกว่า
- ควรรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วต่างๆ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
- หากท่านใดอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรลดน้ำหนักตัวและควรปรึกษาแพทย์
- กรณีตรวจพบอาการของโรค ควรพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อติดตามการดำเนินของโรค”
ท่านสามารถศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงและสัญญาณเตือนของโรคเพิ่มเติมได้ที่ www.praram9.com/fatty-liver หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า โทร. 1270 หรือ www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital