จากเวทีการประชุม The Union World Conference on Lung Health 2023 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส องค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมประเทศไทย จากข้อมูลการรายงานวัณโรค Global tuberculosis report ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก เรื่องการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรค Universal health coverage (UHC) ซึ่งจากการรายงาน พบว่าในกลุ่มประเทศที่มีภาระด้านวัณโรคสูงสุด 30 ประเทศของโลกนั้น ประเทศไทยมีการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพด้านวัณโรค อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งในการตรวจคัดกรองการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันวัณโรค
วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2566) นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรคของประเทศไทย เป็นการบริการด้านสุขภาพของรัฐที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกส่วน ทุกคนในสังคม ได้รับการประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งด้านการคัดกรองวัณโรคด้วยเอกซเรย์ทรวงอก การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การตรวจวินิจฉัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา พร้อมด้วยการตรวจหาการติดเชื้อระยะแฝง และการให้ยาป้องกันวัณโรคให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ ทั้งประชาชนที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นที่รัฐจัดให้ เป็นไปตามนโยบายให้ประชาชนทุกคนในประเทศได้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านวัณโรคได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อมุ่งเป้าสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals ; SDGs./เป้าหมาย 3.8) ภายในปี พ.ศ. 2573 ต่อไป
นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อ สิทธิต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรค ได้แก่ การคัดกรองวัณโรคด้วยเอกซเรย์ทรวงอก ในกลุ่มประชากร 7 กลุ่มเสี่ยง พร้อมด้วยการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเสมหะย้อมสีทนกรด AFB และวิธี Molecular Assay(Xpert) การตรวจวินิจฉัยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วยวิธี TB-LAMP และLine Probe Assay หรือวิธี Real-time PCR ตลอดจนการตรวจหาการติดเชื้อระยะแฝงด้วยวิธีการตรวจหาระดับสาร Interferon-gamma ในเลือด (Interferon-gamma release assay: IGRA) รวมถึงการให้ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงได้รับยาป้องกันวัณโรค Rifapentine + Isoniazid เป็นต้น
ส่วนทางด้าน แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ด้านวัณโรค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวัณโรค ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทย ด้านวัณโรค The National Tuberculosis Program (NTP) Thailand ในการประชุมใหญ่นานาชาติ The Union World Conference on Lung Health 2023 กล่าวว่า จากเวทีที่ประชุม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ชื่นชมประเทศไทย จากข้อมูลการรายงานวัณโรค Global tuberculosis report ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก เรื่องการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรค
ซึ่งจากการรายงาน Global tuberculosis report 2023 พบว่าในกลุ่มประเทศที่มีภาระด้านวัณโรคสูงสุด 30 ประเทศของโลกนั้น ประเทศไทยได้มีการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรค เป็นระดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด มีการดูแลประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพด้านวัณโรค อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ทั้งในการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันวัณโรค ทำให้นานาชาติยอมรับ จนองค์การอนามัยโลกได้ชื่นชม และยกให้เป็นประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านวัณโรคดีที่สุดประจำปี พ.ศ. 2566 บนเวทีการประชุมใหญ่ The Union World Conference on Lung Health 2023 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา