กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าหนาว และเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพให้กับประชาชน

www.medi.co.th

กรมควบคุมโรค คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว จึงจำเป็น ต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคให้กับประชาชน ในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ปริมาณฝน มีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งจะเสี่ยงทำให้เกิดไฟป่าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ง่าย และเป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันข้ามแดนในปลายปี 2566 นี้ รวมไปถึง ต้นปีหน้ามากขึ้น ด้วยมีการปรับลดค่ามาตรฐานจากไม่เกิน 50 เป็นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเพิ่มมากขึ้นด้วย


นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าว ในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 3/2566 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อทบทวนและพิจารณากฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ 1. การกำหนดมาตรฐาน การให้บริการอาชีวเวชกรรม 2. การกำหนดมาตรฐานการให้บริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม 3. การขึ้นทะเบียนของ หน่วยบริการ 4. การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ 5. การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ 6. คุณสมบัติหน่วยงานอื่นใดของรัฐในการขึ้นทะเบียน 7. การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือ  การเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ 8. การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง และการเข้าไปยังแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 8 ฉบับ และมีมติเห็นชอบเพิ่มเติม 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ. ....  2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... 

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีมาตรการเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ภายใต้ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการที่ 1) พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังโรคจากฝุ่น PM2.5 โดยพื้นที่จัดทำข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพจากปริมาณฝุ่น PM2.5 2) ยกระดับการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อมกรณีฝุ่น PM2.5 ในหน่วยบริการสุขภาพ โดยเพิ่มกิจกรรมการคัดกรองโรคจากฝุ่น PM2.5 ทั้งเชิงรับและเชิงรุก และมีการสื่อสารความเสี่ยงแก่กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ 3) สร้างความรู้ สื่อสารความเสี่ยง และพัฒนา  ความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง และ 4) ขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้อง 


ทั้งนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม สังเกตตนเอง หากมีอาการรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมกับให้ติดตามสถานการณ์ ค่าฝุ่น PM2.5 ทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านช่วยกัน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หมั่นเช็คสภาพรถยนต์ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่เผาป่า หรือการเผาขยะในครัวเรือน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422