วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนสราญรมย์และสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต จัดโครงการสร้างสุขภาวะทางใจเพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่าและมีความสุข พร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ในระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ปทุมธานี พร้อมเร่งพัฒนาเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม เพื่อเป็นเพื่อนดีดูแลใจผู้สูงวัย
ให้สามารถเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและสามารถอยู่ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรโลกที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน ซึ่งเกือบร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือร้อยละ 31.28 ในปี 2583 และจากการที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองเสื่อมถอยลง ทำให้ความสามารถในการทำงานลดน้อยลงไป รวมถึงมีข้อจำกัดในการปรับตัวกับความก้าวไกลด้านเทคโนโลยี จึงทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ สำหรับผู้ดูแล การบำบัดอาการปัญหาพฤติกรรมและจิตใจของผู้ป่วยสมองเสื่อมโดยไม่ใช้ยา โปรแกรมกลุ่มการดูแลแบบเกื้อกูลบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยสำหรับผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ โปรแกรมเสริมสร้างสมรรถนะทางใจในผู้สูงอายุไทย คลิปการดูแลปัญหาสุขภาพใจในผู้สูงอายุ 12 อาการตลอดจนการบูรณาการเครื่องมือการคัดกรองสุขภาพจิตผู้สูงอายุ (2Q Plus) ในเครื่องมือการคัดกรองสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการบูรณาการแนวทางการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุร่วมกับและกรมวิชาการที่เกี่ยวข้องและจะเดินหน้าขยายเครือข่ายเพื่อสร้างเพื่อนดีดูแลใจ...ผู้สูงวัย ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพต่อไป
นายแพทย์อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า การพัฒนาองค์ความรู้และสื่อเพื่อเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพจิตผู้สูงอายุ ผู้ดูแลและบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาการด้านสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงวัย การเสริมสร้างพลังใจและแนวทางการสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแล เป็นต้น ขณะนี้ได้ขยายผลนำไปใช้ไปยังเครือข่ายทั้ง 13 เขตสุขภาพแล้ว การจัดโครงการสร้างสุขภาวะทางใจเพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่าและมีความสุข ในครั้งนี้จึงจะมีการชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตผู้สูงอายุ และยังเป็นเวทีที่สื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะทางใจที่ดี การจัดการประชุมครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดีเก่งและมีคุณภาพ เพราะจะทำให้บุคลากรที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมให้สามารถเข้าถึงการบริการและสามารถอยู่ในครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพต่อไป