สธ. จับมือ 21 องค์กร ขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน มุ่งสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”

 กระทรวงสาธารณสุขจับมือ 21 องค์กรภาคีเครือข่ายลงนามปฏิญญาร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (3P Safety) ระยะที่ 2 ปี 2567-2570 มุ่งสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”


          วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอร์รั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำในการประกาศการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน ร่วมกับ 21 องค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” ซึ่งจัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.


          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เชิญชวนให้ก้าวล้ำจากการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขเป็นความปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยประกาศนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน (Patient, Personnel and People Safety หรือ 3P Safety) ผ่านวิดีโอ กำหนดให้มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับ Global Patient Safety Action ขององค์การอนามัยโลก รวมถึงมีเป้าหมายความปลอดภัยที่มีแนวทางปฏิบัติ ครอบคลุมผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน และให้มีการขยายความร่วมมือขององค์การต่างๆ ไปยังภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมเป็น 21 องค์กร โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”


          ด้าน นายสันติ กล่าวว่า นโยบาย 3P Safety มีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. กำหนดให้มีเป้าหมายความปลอดภัยเป็นระดับประเทศ และวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในรูปแบบ วิธีการ รวมถึงทรัพยากรต่างๆ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบการรายงานและเรียนรู้ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับประเทศ  ตั้งแต่ระดับหน่วยงาน พื้นที่ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง และระดับประเทศ และ 3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและประชาชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และระบบสนับสนุนอื่นๆ เพื่อคุณภาพ  ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของทุกคน


          “นโยบายนี้มีความสำคัญ จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรด้านสุขภาพ องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคประชาชน เพื่อส่งมอบระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประชาชน นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ สู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ ที่รับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนทุกคนมีสุขภาวะที่ดี” นายสันติ กล่าว


          ขณะที่ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนา “การประกาศนโยบายขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน” และ “การเรียนรู้กลไกและวิธีการใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ (Quality Tools) สำหรับสมาชิก 3P Safety Hospital” จัดขึ้นระหว่างวันที่  29 - 30 พ.ย. 2566 เพื่อสื่อสารทิศทางการขับเคลื่อนโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ตามทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3P Safety ระยะที่ 2 โดยมีตัวแทนโรงพยาบาลกว่า 1,200 คน และเข้าร่วมจากระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมแล้วกว่า 1,000 โรงพยาบาล จากทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน กิจกรรม ประกอบด้วย เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA การธำรงคุณภาพด้วยการพัฒนาต่อเนื่องด้วยระบบบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน การกำหนดประเด็นเป้าหมายความปลอดภัยที่มุ่งสู่ผลลัพธ์ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน รวมถึงเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพต่างๆ เช่น ระบบการรายงานและเรียนรู้ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับประเทศ  ระบบการสำรวจวัฒนธรรมความปลอดภัยของโรงพยาบาลออนไลน์ ระบบการรับฟังประสบการณ์ผู้ป่วยสู่การปรับระบบบริการ ระบบสารสนเทศเปรียบเทียบวัดระดับคุณภาพโรงพยาบาล เป็นต้น


 

29 พฤศจิกายน 2566