ส่องการจัดบริการ ‘เวอร์คแล็บสหคลินิก’ลดปัญหาการรอคอยเจาะเลือดที่ รพ. ด้วยโครงการ ‘Lab Anywhere’ จาก สปสช.

ปัญหา ‘การรอคอย’ คือความทุกข์ด่านแรกของคนที่ไปโรงพยาบาล หลายคนต้องตื่นแต่เช้ามืด ไปเข้าคิวรอรับการตรวจ กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนความบางครั้งก็ครึ่งค่อนวัน


        มากไปกว่านั้น หากผู้ป่วยรายใดต้อง ‘เจาะเลือด’ ด้วยแล้ว อาจต้องเสียเวลารอคอยเพิ่มเติมอีกหลายชั่วโมงจนกว่าที่ผลเลือดจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จะออก หรือในหลายราย จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลก่อนวันนัดหมายเพื่อไปเจาะเลือด ซึ่งเท่ากับว่าต้องไปโรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง ในการตรวจเพียงครั้งเดียว


        จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถ ‘เจาะเลือด’ และ ‘รับผลเลือด’ ได้ที่ห้องแล็บใกล้บ้าน ?


ในปี 2566 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเทคนิคการแพทย์จัดทำโครงการ “Lab Anywhere” หรือบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) นอกหน่วยบริการ


การบริการดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน-เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชน และยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย


หนึ่งในคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้ดำเนินการให้บริการจริงแล้วก็คือ “เวอร์คแล็บสหคลินิก” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

“เวอร์คแล็บสหคลินิก” เข้าร่วมโครงการไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่าน โดย ทนพ.โสฬส ธนิกกุล กรรมการผู้จัดการเวอร์คแล็บสหคลินิก คลินิกเทคนิคการแพทย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ระบุว่า เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลรัฐ เห็นความแออัด ภาระค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทาง ทำเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญ
ทันทีที่ได้รับคำชักชวนจากสภาเทคนิคการแพทย์ บนความพร้อมของทั้งหน่วยบริการ นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชีพ นักเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ จึงไม่รอช้าที่จะตัดสินใจเข้าร่วม

ทนพ.โสฬส เล่าว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น “หลายร้อยราย” ซึ่งเป็นดอกผลจากการลุยประชาสัมพันธ์ ทั้งในชุมชน และหน่วยบริการที่รู้จัก จากเดิมที่มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก
“ช่วงเดือน ต.ค.- ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมีประชาชนเข้ามาใช้บริการหลายร้อยหลาย แตกต่างจากช่วง 2 เดือนแรกที่เปิดบริการซึ่งมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพียง 3 รายเท่านั้น” ทนพ.โสฬส ระบุ

สำหรับ เวอร์คแล็บ เปิดให้บริการทั้งผู้ป่วยบัตรทองหรือบัตร 30 บาท แบบผู้ป่วยนอก (OP) ทั้งหมด 22 รายการใน 8 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. การตรวจหาความเข้มข้นและความผิดปกติของเม็ดเลือด 2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 3. การตรวจน้ำตาลสะสม 4. การตรวจระดับไขมันในเลือด 5. ตรวจการทำงานของตับ 6. ตรวจการทำงานของไต 7. ตรวจปัสสาวะ และ 8. ตรวจไวรัสตับอักเสบบี โดยในกรณีนี้ ผู้ป่วยบัตรทองต้องใช้บัตรประชาชนร่วมกับใบสั่งตรวจจากแพทย์จากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยบัตรทองอยู่
ขณะเดียวกัน ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่คนไทย “ทุกสิทธิการรักษา” สามารถเข้ารับบริการได้ 2 รายการ ได้แก่ 1. ตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ ในกรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ จำนวน 4 ครั้ง/ปี และ 2. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจาระ ตามกลุ่มเป้าหมายอายุ 50-70 ปี ทุก 2 ปี ผู้เข้ามารับบริการใช้เพียงแค่บัตรประชาชนและยังสามารถใช้สิทธิได้ง่ายๆ โดยเช็คสิทธิประโยชน์ที่แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค และเลือกบริการที่ต้องการ
โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ทนพ.โสฬส ระบุว่า ขณะนี้ เวอร์คแล็บฯ มีความพร้อมในการให้บริการ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 หรือเขตสุขภาพที่ 13 ที่อยู่ใกล้เคียงกับคลินิก และจากการพูดคุยกับสภาเทคนิคการแพทย์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ และ สปสช. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในอนาคตอยากจะขยายบริการเพิ่มเติมให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการแล็บตรวจใกล้บ้านได้ เพราะในตอนนี้ยังมีประชาชนบางส่วนต้องกลับเข้าไปรอคิวตรวจที่โรงพยาบาล เนื่องจากบริการบางรายการยังไม่ครอบคลุม
ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดบริการที่ได้รับจากทาง สปสช. เขาตอบอย่างหนักแน่นว่า “สมเหตุสมผล” กล่าวคือไม่มากและไม่น้อยไป แน่นอนว่า เม็ดเงินที่ได้รับเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน “อย่างมีคุณภาพ” และเป็นไปตาม “หลักเกณฑ์วิชาชีพ”
อย่างไรก็ดี การเปิดบริการตามโครงการที่ว่านี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดย ทนพญ.วิชชุดา จันทะเดช เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ เวอร์คแล็บสหคลินิก บอกว่า ใช้เวลารอผล “เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น”

ทนพญ.วิชชุดา เล่าว่า ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการได้ตอนเช้า แล้วกลับมารับผลตอนพักเที่ยง หรือถ้าไม่ว่างก็สามารถแจ้งมายังเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับผลตอนเย็นได้อีกด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด เนื่องจากไม่ต้องเดินทาง สามารถเข้ามารับบริการที่คลินิกที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่ทำงานได้
นอกเหนือจากการมารับผลที่คลินิกแล้ว หากประสงค์อยากจะให้ส่งผลตรวจไปที่หน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการต้นสังกัด ก็สามารถทำได้เพียงแค่แจ้งความประสงค์เอาไว้ทั้งที่หน่วยบริการ และคลินิก เพื่อง่ายต่อการประสานงาน แต่ถึงอย่างนั้นต้องอยู่บนความ “ประสงค์” ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ


ทางฝั่งของผู้ใช้บริการ น.ส.กนกพร ไกรสินธุ์ ที่เข้ารับบริการการตรวจไวรัสตับอักเสบบี ระบุว่า การเข้ามาใช้บริการที่เวอร์คแล็บฯ เป็นสิ่งที่สะดวก ใช้เวลาจากบ้านราว 10 นาทีเท่านั้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย
มากไปว่านั้น เดิมทีก็เคยเข้ามารับบริการที่นี่อยู่แล้ว และได้ทราบข่าวผ่านไลน์แอปพลิเคชันถึงโครงการที่ว่า รวมถึงมั่นใจในมาตรฐานการบริการ จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนตัดสินใจเลือกเข้าใช้บริการที่นี่