สธ.ประกาศ 5 มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 เสนอ ศบค.จำกัดการเดินทาง-ปิดสถานที่เสี่ยง

กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขประกาศ 5 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเสนอ ศบค.จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง 14 วันในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน

          นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อโควิด 19 สูงถึง 7 พันราย เสียชีวิต 75 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล มีประชาชนยังคงรอรับการตรวจหาเชื้อจำนวนมาก มีการใช้เตียงรักษาในทุกระดับอาการมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์มีความเหนื่อยล้า กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด 5 มาตรการ ดังนี้
          1. การตรวจหาเชื้อตามปกติใช้วิธี RT-PCR ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่าง และเมื่อมีการตรวจมากทำให้รอผลตรวจนานข้ามวัน จึงให้ใช้ Rapid Antigen Test หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว โดยสถานพยาบาลดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และจะวางระบบรองรับเรื่องการตรวจด้วยตัวเองที่บ้านต่อไป
         2. การดำเนินการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) ในผู้ป่วยโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดระบบสาธารณสุขดูแลติดตามให้เครื่องมือในการตรวจวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด หากอาการมากขึ้นหรือมีความเสี่ยงจะรับมาดูแลในโรงพยาบาล และร่วมกับ สปสช.ปรับเกณฑ์ เรื่อง Home Isolation นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลครบ 10 วันให้กลับมา Home Isolation ต่อจนครบ 14 วัน เพื่อลดปริมาณการใช้เตียง ให้คนที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นเข้าสู่โรงพยาบาลได้ต่อไป
         3. มาตรการส่วนบุคคล โดยให้ Bubble and Seal ตัวเอง แยกรับประทานอาหารที่บ้านและที่ทำงาน เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้านและที่ทำงาน และเน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อต่อไป  
         4.จะเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ใน 2 กลุ่มนี้ เน้นพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑล จะเร่งฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ภายใน 1-2 สัปดาห์
         5.กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ศบค.เพื่อยกระดับมาตรการทางสังคม ในการจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงสถานที่รวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น ยกเว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร เดินทางไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น
         โดยมาตรการนี้จะดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการระบาดใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณามาตรการต่อไป